โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

18 สิงหาคม 2563

หนุ่มเชียงใหม่เจอ “เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด” จากการแข่งบอล!!! รพ.ลานนา ใช้ “เทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้อง”...แผลเล็กหายไว



โอกาสบาดเจ็บรออยู่แล้วสำหรับนักกีฬา!!!

ถึงแม้จะยังอยู่ในช่วงที่สังคมโลกถูกคุกคามจาก “โควิด-19 แต่สำหรับผู้รักกีฬาฟุตบอลในบ้านเราก็ดูเหมือนจะลดความตื่นเต้นหวาดหวั่นกับการแพร่ระบาดของโรคนี้เหมือนในช่วงหลายเดือนก่อน เห็นได้จากความคึกคักในสนามสีเขียวที่ฟื้นคืนชีวิตชีวาเมื่อบรรดาผู้หลงใหลกีฬาฟุตบอลนัดรวมพลไปวิ่งแข่งแย่งลูกกลม ๆ กันอย่างเพลิดเพลินสนุกสนานดังเดิมเหมือนกันทุกแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงเวลาที่แต่ละคนกำลังมุ่งหาทางฝ่าทะลวงแนวต้านของอีกฝ่ายก็จะมีโอกาสเกิดการปะทะเข่าหรือแข้งระหว่างการสกัดกั้นได้เสมอและหนีไม่พ้นต้องเจอบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างที่ว่านี้ได้ทุกขณะ ดังเช่นวิศวกรหนุ่มชาวเชียงใหม่วัย 26 ปีผู้มีนามว่า สุวิทย์ ธิธรรมมา” เจอมาแล้วและเผยให้ฟังว่า




“...วันหนึ่งระหว่างการแข่งฟุตบอลได้มีจังหวะปะทะกันกับผู้เล่นอีกฝั่ง คือผมเหยียดขาไปสกัดลูกแล้วโดนอีกฝ่ายเข้ามาชนบริเวณหัวเข่าจากด้านข้าง ตอนนั้นผมได้ยินเสียงดังกึ๊กตรงหัวเข่า จำได้เลยว่าเจ็บมากและโดนหามออกมานั่งประคบน้ำแข็งพอรู้สึกว่าค่อยยังชั่วก็เล่นต่อไม่ไหวจึงกลับบ้านไปเลย จากนั้นไม่นานก็รู้สึกได้ว่าในหัวเข่าเราต้องมีอะไรบางอย่างฉีกขาดแน่นอน รู้เลยว่าหัวเข่าไม่มั่นคงเหมือนก่อนหน้านี้ รู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปเหมือนเข่าเราหลวม ๆ มีเสียงดังกรอบ ๆ แกรบ ๆ ในเข่า จึงตั้งใจหยุดเล่นกีฬาไว้สักพักหนึ่งก่อนเพื่อให้ดีขึ้นแต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างที่คิด และยังไม่สามารถกลับไปเตะฟุตบอลได้เต็มที่เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะยังสามารถเดินได้ปกติ ออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่นเดิน วิ่งเบา ๆ หรือว่ายน้ำ แต่อาการเจ็บหัวเข่าก็ตามมารบกวนทุกครั้งเมื่อต้องมีการบิดหมุนหัวเข่า เคลื่อนไหว ยิ่งหากขยับร่างกายเร็ว ๆ ก็จะเกิดการบาดเจ็บที่เข่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัดสินใจหยุดกิจกรรมและหาทางออกด้วยการเข้าไปปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลลานนา โดยหวังว่าจะหาทางรักษาอาการให้ดีขึ้น...”

ภาพรวมอาการหลังเกิดเหตุ...ควรรีบรักษาโดยเร็ว

คุณหมอประจำ “ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา” ซึ่งเป็น “แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้ออีกด้วย”  ผู้ทำการตรวจวินิจฉัย “คุณสุวิทย์” คือ นพ.ไกรพ วิวัฒนพณิชย์” ให้ข้อมูลสรุปว่าเมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุทางการกีฬาระหว่างการแข่งขันหรือเล่นกีฬาซึ่งไม่ว่าจะมาจากจังหวะของการปะทะ กระแทก หรือกระโดดแล้วเกิดการผิดท่าทาง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าและส่งผลให้เอ็นไขว้หน้าในข้อเข่าฉีกขาดได้ ซึ่งกีฬายอดฮิตที่มักพบการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าคือ ฟุตบอล...กีฬายอดฮิตของใครต่อใครนั่นเอง คุณหมอจึงได้อธิบายให้เห็นภาพรวมของลักษณะอาการที่จะตามมาดังนี้





“...หลังจากเอ็นหัวเข่าฉีกขาด อาการปวด อักเสบบริเวณหัวเข่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการปวด บวมค่อย ๆ ลดลง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ด้วยตนเองโดยไม่รู้สึกผิดปกติ แต่จะมีอาการเวลาที่หัวเข่าต้องบิดหมุน เช่น เดินเร็ว ขึ้น-ลงบันได วิ่ง เล่นกีฬา เป็นต้น หากรู้สึกว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด หรือมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด กรณีที่เอ็นไขว้หน้าขาดอย่างเดียว จะไม่ทำให้เข่าเสื่อม แต่ถ้ามีหมอนรองเข่าฉีกขาดร่วมด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้เข่าเสื่อมได้...”



สำหรับการวินิจฉัยกรณีที่เกิดขึ้นนี้ คุณหมอระบุว่าจะเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เอกซเรย์เบื้องต้น เพื่อหาร่องรอยความผิดปกติของกระดูก แต่ในกรณีเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ที่ช่วยให้สามารถตรวจดูการฉีกขาด การอักเสบของเส้นเอ็น กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า และข้อต่าง ๆ ได้อย่างดี รวมทั้งยังเห็นอีกว่าหมอนรองกระดูกหัวเข่าเกิดความเสียหายร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อช่วยให้วินิจฉัยโรคและการบำบัดรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำนั่นเอง



“คุณหมอไกรพ” แพทย์เวชศาสตร์การกีฬาแห่ง “ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา” แนะนำว่าผู้ที่เจออุบัติเหตุจากกีฬาในลักษณะเดียวกันนี้ควรไปเข้ารับการตรวจรักษาหลังจากที่ตระหนักแล้วว่าร่างกายเริ่มมีปัญหา ซึ่งการรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาดส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถเย็บให้ไปติดกันใหม่ได้ จึงต้องสร้างเส้นเอ็นใหม่โดยจะใช้เส้นเอ็นจากแหล่งของผู้ป่วยเอง เช่น เอ็นจากกล้ามแฮมสตริงด้านในของเข่า โดยที่การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าที่ผ่านมาก่อนหน้านี้จะใช้รูปแบบการผ่าตัดแบบเปิดโดยเกิดผลข้างเคียงหลังการรักษาซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเสียเลือดมากระหว่างการผ่าตัด รวมทั้งกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวเข่าจะเกิดการบอบช้ำจากการผ่าตัดส่งผลให้ต้องนอนพักรักษาตัวหลายวัน!!!


เทคโนฯ การแพทย์อีก 1 ที่พึ่งเพื่อการรักษา...

ย่างไรก็ตาม “ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา” ได้พิจารณาถึงทางเลือกเพิ่มสำหรับผู้ป่วยด้วยอุบัติเหตุทางกีฬาจะได้ประโยชน์และมีโอกาสเลือกรักษาตัว จึงได้นำเทคโนโลยีการรักษาเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาดโดยการผ่าตัดผ่านกล้องมาใช้รักษาผู้ป่วยที่ช่วยให้เกิดผลดีกับผู้ป่วยมากกว่าในอดีต เพราะเหตุที่การผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดีประการแรกคือแผลที่มีขนาดเล็กกว่า จึงช่วยให้การบาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อยกว่าและการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า และโอกาสที่เข่าจะยึดติดก็น้อยลง นอกจากนี้คือการผ่าตัดแบบผ่านกล้องจะช่วยให้แพทย์มองเห็นพยาธิสภาพในข้อเข่าได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิดเข่าซึ่งไม่มีการขยายขนาดการมองเห็นแต่อย่างใด จึงแตกต่างกับการที่มีเลนส์ในกล้องมาขยายให้ปรากฏเป็นภาพขนาดใหญ่บนจอรับภาพ โดยที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้องมีขนาดเล็ก สามารถสอดเข้าทำการผ่าตัดในพื้นที่แคบ ๆ ในเข่าได้สะดวก โดยที่เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องยังช่วยให้แพทย์สามารถเย็บซ่อม หรือเจียรหมอนรองกระดูกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่ง “หมอจอแก้ว” สรุปอย่างกระชับและได้ใจความก็คือ...

“การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยเข้าใจกัน” 

ผู้ที่เหมาะสมสำหรับให้ความเห็นในกรณีนี้คือ “คุณสุวิทย์” ซึ่งเป็นวิศวกรหนุ่มชาวเชียงใหม่ที่ผ่านประสบการณ์ในการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาถึงกับเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดโดยได้ผ่านการผ่าตัดรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าแบบเดียวกันนี้มาแล้ว โดยเจ้าตัวเผยว่า
“...การได้รับการผ่าตัดในครั้งนี้เป็นที่พอใจผมมาก เนื่องจากไม่มีแผลผ่าตัดรอยยาวเหมือนภาพในอดีตที่เคยทราบมาก่อน...หลังผ่าตัดได้สองวันก็เริ่มเดินลงน้ำหนักได้บ้าง นอนพักที่โรงพยาบาลเพียง 3 วัน ก็กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว เหลือแต่เพียงการฟื้นฟูร่างกายและให้เส้นเอ็นได้ฟื้นตัวดีขึ้นเพื่อให้ผลการรักษาสมบูรณ์และพร้อมก่อนกลับไปเล่นกีฬาได้อีกครั้งในอีก 6 เดือนถัดมา ... ขอขอบคุณคุณหมอไกรพ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ พยาบาลประจำศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนาที่ได้ช่วยดูแลรักษาผมอย่างดีครับ”  
ต้องขอแสดงความยินดีกับ “คุณสุวิทย์” ที่ถ่ายทอดประสบการณ์กรณีเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ตลอดทั้งการถ่ายทอดข้อมูลให้ท่านผู้อ่าน “อุ่นใจ...ใกล้หมอ” ได้ทราบถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ และขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ช่วยกล่าวปิดท้ายให้ครับ