โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

28 กันยายน 2561

รพ.ลานนา ร่วมงานครอบรอบ 69 ปี สถาปนาสาธารณรัฐประชาชานจีน



                ตัวแทนผู้บริหาร โรงพยาบาลลานนา คุณจันทนา จารุเศรณี หัวหน้าแผนกลูกค้าสัมพันธ์ และคุณจิราลักษณ์ จันทร์กระจาย หัวหน้าแผนกสื่อสารการตลาด รพ.ลานนา ได้เข้าร่วมงานเลี้ยง เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 69 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ Mr.Ren Yisheng และภริยา เป็นผู้ต้อนรับในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองครั้งนี้

แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานนี้ ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ เช่น นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กงสุลจากประเทศต่างๆ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นายกสมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ ตลอดจนสมาชิกสมาคม ชมรม องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีน นักธุรกิจเชื้อสายจีน มาร่วมงานฉลองอย่างคับคั่ง บรรยากาศเป็นไปด้วยความสุขจากแขกผู้ร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา


19 กันยายน 2561

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ หนุ่มวัย 37 ข้อกระดูกสะโพกตายแม้ยังไม่แก่ รพ.ลานนา ใช้เทคโนฯ ผ่าตัดแนวใหม่ ฟื้นตัวไว





อาการบ่งชี้-พฤติกรรมนำไปสู่คำตอบ...

มื่อคนเราได้โลดแล่นใช้ชีวิตผ่านฤดูกาลต่าง ๆ เรื่อยมาจนเข้าสู่ความเป็น “สอ-วอ” ที่แปลว่า “ผู้สูงวัย” แล้วละก็สิ่งที่ตามด้วยอย่างช่วยไม่ได้คือ “ความเสื่อม” ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยสามารถสัมผัสได้ด้วยสายตาตั้งแต่หัวจรดเท้า ไล่จากบนลงล่างก็จะมีตั้งแต่ผมซึ่งจากที่เคยดกดำก็เริ่มมีสีดอกเลาแซมขึ้นมา ขณะที่ใบหน้าอิ่มเอิบมาตลอดก็ชักปรากฏร่องรอยของการเหี่ยวย่นเช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ทั่วตัว...ซึ่งล้วนเป็น “รูปลักษณ์ภายนอก” ที่ไม่มีใครอาจหลีกลี้หนีได้พ้น แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาที่ต้องทุกข์ทรมานหรือเจ็บปวดรวดร้าวแต่อย่างใด จึงต่างกับกรณีของโรคภัยที่แฝงเข้ามาพร้อมกับวัยและออกฤทธิ์อาละวาดด้วยการกัดกร่อนอวัยวะภายในจนเกิดความเสียหายมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของ “สอ-วอ” ที่ไม่อาจหนีพ้นภาวะความเจ็บป่วยและต้องเผชิญปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกิน การอยู่ หรือการเคลื่อนไหวใช้งานอวัยวะที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่มาเบียดเบียนได้สำเร็จก็ย่อมต้องแบกรับความเจ็บปวดรวดร้าวไปพร้อมกับความทุกข์ที่จะเพิ่มมากเป็นลำดับ...
แต่ข้อมูลความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ผู้สื่อข่าวพิเศษได้นำมาเสนอในฉบับนี้มิได้เกิดกับผู้ป่วยที่ได้ชื่อว่าอยู่ในกลุ่ม “สอ-วอ” อีกทั้งยังมิใช่เป็นความเจ็บป่วยอันเป็นผลจาก “ความเสื่อม” ที่มาพร้อมกับวัยแต่อย่างใด และผู้ที่ได้เผชิญกับภาวะอาการที่สร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสรายนี้กลับเป็น “ชายหนุ่มวัย 37 ปี” มีนามว่า ชัยวัฒน์  ตายศ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของโรค “ข้อกระดูกสะโพกตาย” ชนิดที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวและเมื่อถูกถามว่ารู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าป่วยเป็นโรคนี้ “หนุ่มชัยวัฒน์” ก็ตอบทันทีว่าเกิดอาการขึ้นยังไม่ทันถึงปีโดยเริ่มรู้สึกได้จาก...ปวดขาหนีบ...ปวดสะโพกบ้าง...รวมทั้งปวดร้าวลงขา แต่คิดว่าเกิดจากการทำงาน โดยเฉพาะ ตอนที่ยืน เดินนาน ๆ จะรู้สึกว่าเดินต่อไปไม่ไหว จนต้องหยุดพักเพื่อให้อาการทุเลาลง และมันก็เป็นบ่อยขึ้นต่อมาอีกหลายเดือน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าได้พยายามหาทางรักษาโดยวิธีทั่วไป เช่น การไปนวดจับเส้น การทานยารักษา การฝังเข็ม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ทุเลาลง แถมยังหนักข้อขึ้นทุกที จนต้องตัดสินใจไปพบหมอกระดูกที่รพ.ลานนา เพราะอยากทราบสาเหตุที่ทำให้ต้องเจอความทุกข์ทรมานอย่างนี้ผู้ที่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผู้ป่วยหนุ่มรายนี้คือ นพ.ภาสกร อุปโยคิน แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา โดยระบุว่าโรคที่เขาเผชิญอยู่มีชื่อเรียกว่า “โรคข้อกระดูกสะโพกตาย” ซึ่ง “คุณหมอภาสกร” วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคนี้หลังจากได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกายโดยอาศัย เทคโนโลยีสแกนร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI  แล้วพบว่าข้อสะโพกของผู้ป่วยขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้หัวข้อสะโพกเสื่อมหนักมาก ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในคนอายุน้อยๆ ซึ่งหากละเลยไม่รักษา คุณภาพชีวิตอาจจะแย่ลงได้ในที่สุด

ทั้งนี้ “คุณหมอภาสกร” ได้ย้ำชัดถึงกรณีนี้ว่า...แม้ผู้ป่วยจะยังไม่แก่ ข้อสะโพกก็เสื่อมได้เช่นกัน...เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงเวลานี้แล้วก็ต้องเดินหน้าไปสู่การบำบัดรักษา ส่วนจะด้วยวิธีไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุดนั้น  เห็นจะต้องขอเชิญไปติดตามจากคุณหมอผู้เป็นเจ้าของไข้ต่อไปได้เลยครับ


“ข้อดี” ของเทคโนโลยีผ่าตัดแนวใหม่ ... ในศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา


“คุณหมอภาสกร อธิบายว่ากรณีอย่างนี้ วิธีที่จะรักษาอันเหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นต้องให้เขาเข้ารับ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” ซึ่งทุกวันนี้มีการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์มาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากขึ้นในหลายกรณีที่แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้ป่วยอาจต้องถึงกับ “สะดุ้งโหยง” เมื่อได้ทราบจากคุณหมอว่า “ต้องผ่าตัด” ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่ามันเป็น “เรื่องใหญ่” เพราะข้อมูลที่ใคร ๆ ได้ยินกันเรื่อยมาจากหลายปีก่อนคือผู้ป่วยต้องให้แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่บริเวณด้านหลัง หรือด้านข้างลำตัว ก่อนที่จะมีการตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกออกเพื่อตัดแต่งเอากระดูกข้อสะโพกของผู้ป่วยที่เสื่อมสภาพออกไป แล้วจึงใส่ข้อสะโพกเทียมอันใหม่เข้ามาแทน ซึ่งหลังจากที่ผ่านการผ่าตัดแบบเดิมที่ว่านี้แล้วผู้ป่วยต้องนอนพักตัวรักษาในโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์เพื่อให้คุณหมอแน่ใจว่าไม่เกิดความเสี่ยงกับแผลผ่าตัดขนาด 6-8 นิ้วที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย  นอกจากนั้นยังต้องอาศัยเวลาอีกหลายวันกว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเดินก้าวแรก ทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานพอสมควรกว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกครั้ง

แต่ด้วยเหตุที่ได้มีวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ได้ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยด้วย “โรคข้อสะโพกเสื่อม” แตกต่างไปจากเดิมอันเป็นผลให้คุณหมอและผู้ป่วยมีทางเลือกในการบำบัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่เปลี่ยนไป จึงช่วยให้ “คุณหมอภาสกร”  มีทางเลือกมาใช้เทคนิค การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ด้วยการ “ผ่าทางด้านหน้า แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ”  ซึ่งเป็นเทคนิคที่แพทย์จะผ่าตัดในตำแหน่งทางด้านหน้าบริเวณต้นขา โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วจึงเริ่มทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมให้ผู้ป่วย ทั้งนี้ระหว่างการผ่าตัดจะใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์ร่างกาย C-arm เพื่อเช็คตำแหน่งของข้อเทียมและขาให้ถูกต้องเพื่อช่วยลดปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดแต่ละข้างประมาณ 1-2 ชั่วโมง...จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่” ที่ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา มี “ข้อดี” ที่แตกต่างอย่างแรกคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดน้อยลงเนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบใหม่ทางด้านหน้า โดยไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อออก จึงทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น ความเจ็บปวดน้อย ขณะที่แผลจะมีขนาด 3-4 นิ้วโดยประมาณ  หลังผ่าตัด วันผู้ป่วยก็สามารถเริ่มฝึกเดินได้ ซึ่งเท่ากับว่าระยะเวลาที่ต้องพักในโรงพยาบาลให้ลดลง เหลือเพียง 3-4 วัน ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไป...เพราะฉะนั้นก็ต้องเปิดโอกาสให้ “หนุ่มชัยวัฒน์” เป็นผู้ให้ข้อมูลปิดท้ายซึ่งเจ้าตัวได้กล่าวแบบชื่นชมว่า ...
  
         “…เพียงวันแรกหลังการผ่าตัด อาการปวดทรมานของผมเริ่มหายไปอย่างชัดเจน จากนั้นนักกายภาพบำบัดได้มารับตัวผมไปบำบัดร่างกายหลังการรักษา...ที่ไม่น่าเชื่อคือ...แค่วันเดียวผมก็สามารถลงเดินได้แล้ว เพียงแต่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเท่านั้น...จากนี้ไปก็เหลือเพียงรอให้แผลผ่าตัดหายดี และพยายามฝึกบริหารร่างกาย เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวต่อไป...    ตอนนี้รู้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ซึ่งผมคงต้องหลีกเลี่ยงและพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อไม่ให้มันกลับมาทำร้ายตัวเองอีกครั้ง...แต่อดไม่ได้ที่ต้องขอขอบคุณ “คุณหมอภาสกร” ตลอดทั้งเจ้าหน้าที่ พยาบาลทุก ๆ ท่านของ รพ.ลานนา ที่ช่วยดูแลผมตลอดการรักษาครับ”…เอวังก็มีด้วยประการ.ร.ร.ระ ฉะนี้...สวัสดีครับ

14 กันยายน 2561

"เส้นประสาทถูกกดทับ" จนหนุ่มเหนือเดินแทบไม่ได้!! "รพ.ลานนา" ช่วยพ้นทุกข์ด้วย "เทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็ก"

          เส้นประสาทถูกกดทับจนหนุ่มเหนือเดินแทบไม่ได้

          รพ.ลานนาช่วยพ้นทุกข์ด้วยเทคโนฯ ผ่าตัดแผลเล็ก 

          ใครว่าอายุน้อยไม่ต้องห่วงโรคปวดหลัง...??

          ตั้งคำถามจั่วหัวไว้เป็นประเด็นให้ท่านผู้อ่านได้ทบทวนถกถียงกันว่า... จริงหรือไม่-อย่างไร?? เพราะกรณีที่ “หมอจอแก้ว” นำมาฝากกันในวันพุธนี้พุ่งเป้าไปที่คนหนุ่มวัยยังไม่แตะเลข 3 นำหน้าด้วยซ้ำ แต่กลับต้องได้รับพิษภัยจากอาการปวดหลังมาสร้างความทรมานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันชนิดที่เจ้าตัวมีสภาพใกล้เคียงคนพิการเข้าไปทุกขณะเพราะแทบจะเดินไม่ได้อยู่แล้วโดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่แน่ใจถึงที่มาสาเหตุของความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานนับเดือนแล้ว!!... ”คุณมรุต คงมั่น” หนุ่มวัย 27 เล่าให้ฟังถึงกรณีที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่ามันมาจากไหน??... แต่ในที่สุดเจ้าตัวก็ขอเดาว่า “การยกของหนัก” และ “ยกของแบบผิดท่าผิดทาง” น่าจะเป็นที่มาสาเหตุที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะคิดว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการทำงานซึ่งต้องนั่ง และยืนเป็นเวลานานรวมทั้งมีการยกของบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งเมื่อเกิดอาการก็ใช้วิธีบรรเทาปวดด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ และนอนพักให้อาการดีขึ้นก่อนกลับไปทำเหมือนเดิมในวันต่อ ๆ ไป... แต่อนิจจา... มันกลับไม่ดีขึ้นเหมือนที่คิด มีแต่จะแย่ลง จนกระทั่งทนไม่ไหวเพราะแม้แต่จะยืนหรือเดินยังแทบจะทำไม่ได้เพราะมันปวดชาร้าวลงขาข้างซ้ายสร้างความทรมานที่สุดในชีวิต... สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องไปพึ่งพาหาหมอก็เพราะสุดทนกับ “โรคปวดหลัง”... ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องธรรมด๊า-ธรรมดาที่ใครก็เป็นได้ไม่ว่าจะวัยมากหรือน้อยก็ตาม ดังจะดูได้จากตัวอย่างในกรณีของ “หนุ่มมรุต” รายนี้...มาติดตามกันต่อไปว่าเมื่อเจอ “ฟางเส้นสุดท้าย” ของระดับความอดทนสำหรับคนวัยหนุ่มอย่างเขาแล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป...

          ที่มา-สาเหตุและผลดีสำหรับผู้ป่วย

          จุดหมายปลายทางของผู้ป่วยหนุ่มคือ... รพ.ลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในตัวเมืองและไม่ไกลจากแหล่งพำนักพักพิง ซึ่งเมื่อไปถึงก็ได้รับคำแนะนำให้ไปที่ “ศูนย์โรคปวดหลัง” และได้รับการตรวจจาก นพ.เดชวัศวร์  ศิวัชพันธุ์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ประจำศูนย์ฯ  แห่งนั้นทันทีโดยหลังจากได้สนทนาพร้อมกับซักประวัติแล้วคุณหมอได้ส่งไปเข้ารับการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI จึงทราบแน่ชัดถึงที่มาสาเหตุอันเกิดจาก หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท โดยที่สภาพอาการในขณะที่มารับการตรวจนั้นค่อนข้างหนักแล้ว และคุณหมอได้วินิจฉัยในวิธีการรักษาที่เหมาะสมจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด   จึงได้แนะนำพร้อมกับอธิบายถึงเทคโนโลยีการผ่าตัดหลังแบบแผลเล็ก ที่เรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MIS ซึ่งผู้ป่วยก็พร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดอยู่แล้วโดยได้ศึกษาถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์อย่างที่ว่านี้มาก่อนแล้ว จึงส่งผลให้ “หนุ่มมรุต” ได้เข้าการผ่าตัดรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น โดยมิได้ใช้สิทธิ์การรักษาตามขั้นตอนจาก รพ.ของรัฐเพราะทราบดีว่าอาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการรอคิวนานกว่านั้นในขณะที่เจ้าตัวมีความประสงค์อย่างแรงกล้าในการ รักษาให้หายจากความทรมานนี้ให้เร็วที่สุด...

          อย่างไรก็ตาม “คุณหมอเดชวัชร์” ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณี การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดหลังแบบแผลเล็ก (MIS) โดยสรุปว่าเป็นการผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหากดทับกระดูกสันหลัง และเส้นประสาทออกจากจุดเกิดเหตุ โดยมเปิดแผลผ่าตัดขนาด 3-4 ซม.ตรงบริเวณกระดูกสันหลังที่มีปัญหา และใช้กล้องส่องกับอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อช่วยในการนำเศษชิ้นส่วนหมอนรองกระดูกที่แตก และก่อให้เกิดปัญหาออกมา จากนั้นจึงเย็บปิดแผลซึ่งการใช้เทคโนโลยีการรักษาแบบนี้เป็นผลดีในแง่ที่ช่วยให้แผลผ่าตัด และแผลเป็นมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยจึงไม่เจ็บตัวมากทำให้ไม่ต้องพักฟื้นใน รพ.หลายวันก็กลับบ้านได้ เพราะเหตุนี้เองทำให้ “หนุ่มมรุต” เกิดแรงบันดาลใจอยากสื่อสารมายังผู้ที่มีปัญหาหาอาการปวดหลังเช่นเดียวกันได้คิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า

          “แม้บางทีอายุเราอาจจะยังไม่มากจนถึงขั้นกระดูกเสื่อมหรือกระดูกผุก็ตาม แต่การปฏิบัติตัวในกิจวัตรประจำวัน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อกระดูกสันหลังของเรา โดยเฉพาะการยกของหนัก ยกผิดท่าทางซึ่งหากไม่ระมัดระวังคุณก็อาจมีโอกาสป่วยเป็นโรคปวดหลังได้เหมือนผม ฉะนั้นขอฝากไว้ครับว่า หากมีอาการปวดหลัง อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพียงคิดว่าเดี๋ยวเดียวก็หาย ควรจะมาพบหมอ เพื่อตรวจและรักษาให้ถูกต้องต่อไปดีกว่าครับ”

          ข้อคิดของคนหนุ่มที่เจอปัญหาอาการปวดหลังอย่างรุนแรงขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ไม่เฉพาะคนวัยเดียวกับเขาเท่านั้นนะครับ เพราะที่ “หมอจอแก้ว” เคยเจอมาหลายต่อหลายรายต่างก็พูดเหมือนกันเลยว่า... เวลามันปวดขึ้นมานั้นแทบจะผูกคอตายให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยด้วยซ้ำเพราะไม่นึกว่ามันจะมีวิธรักษาให้หายจากความทรมานที่เกิดขึ้นเรื่อยมาได้อย่างแน่นอน... ต่อเมื่อไปให้คุณหมอตรวจ-รักษาแล้วจึงรู้เลยว่า... โลกนี้ยังน่าอยู่ยิ่งนัก... ตราบใดที่ยังมีเทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์มาช่วยให้พ้นจากความทรมานได้...เหมือนดังที่ ”อุ่นใจ..ใกล้หมอ” นำมาเสนอในวันพุธนี้

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ รพ.ลานนา อาศัยเทคโนโลยีก้าวหน้า "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า" ช่วยผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง-กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

          รพ.ลานนาอาศัยเทคโนฯ ก้าวหน้าผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

          ช่วยผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

          ดูเหมือนว่า โรคข้อเข่าเสื่อม จะมาสร้างผลกระทบให้กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งย่อมต้องมีความเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น แต่ในปัจจุบันโรคนี้พบได้บ่อยขึ้นทั้งจากสาเหตุของการเล่นกีฬา  อุบัติเหตุ  หรือโรคต่างๆ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวทางการรักษาจะว่ากันไปตามความรุนแรงของโรคโดยเริ่มจากการให้ยา ฉีดยา กายภาพบำบัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากผ่านการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วยังไม่ได้ผลละก็ทางออกสุดท้ายที่ผู้ป่วยหนีไม่พ้นคือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้อีกครั้งแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าให้ชัดกันก่อนคือ การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมออย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ จึงจะมาพิจารณาทางเลือกคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และผู้ป่วยเองก็ต้องเข้าใจถึงวิธีการและความเสี่ยงจากผลข้างเคียงอันอาจตามมาจากการผ่าตัดด้วยเช่นกัน แต่ ถึงอย่างไรก็ยังมีผู้ป่วยที่เกิดความกังวลว่าหากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแล้วเขาจะสามารถเดินเหินได้เหมือนเดิมหรือไม่ รวมทั้งข้องใจถึงระยะเวลาการพักรักษาตัวว่านานเพียงใดกว่าจะใช้การได้ตามปกติอีกต่างหาก

          เพื่อคลายความข้องใจ และให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ หมอจอแก้ว จึงขออาสาพาไปติดตามข้อมูลจาก นพ.ภาสกร  อุปโยคิน  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก และข้อประจำศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการนำ เทคโนโลยีก้าวหน้าในวงการแพทย์ เพื่อเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มาบำบัดรักษาให้แก่ผู้ป่วย โดย คุณหมอภาสกร ได้อธิบายว่า 

          “...หลังจากได้ตรวจวินิจฉัยจนแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ ก็จะเริ่มจากการตรวจร่างกายของผู้ป่วยทั้งเรื่องของหัวใจ ปอด ความดันโลหิต เบาหวาน และค่าไตว่าปกติดีหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด หากยังมีปัญหาก็จะต้องรักษาให้เป็นปกติก่อน จากนั้นจึงจะเอ็กซเรย์ตรวจดูหัวเข่าข้างที่มีปัญหา และวัดขนาดเพื่อทำข้อเข่าเทียมให้เหมาะสมสอดรับกับผู้ป่วยแต่ละราย และเมื่อผู้ป่วยพร้อม ข้อเข่าเทียมพร้อมแล้วจึงจะเข้าสู่ปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า โดยเริ่มตั้งแต่วิสัญญีแพทย์ให้ยาสลบแก่ผู้ป่วย เพื่อระงับความรู้สึกขณะที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด โดยผ่าเปิดหัวเข่าและตัดกระดูกส่วนที่เสียออกไปก่อนใส่ข้อเข่าเทียมที่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยที่ข้อเข่าเทียมนี้จะผลิตจากวัสดุทางการแพทย์ที่มีความทนทาน และไม่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อร่างกาย ทั้งนี้แพทย์จะจัดเรียงแนวของข้อเข่าเทียมให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดและตรวจเช็คความเรียบร้อยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าดีแล้วจึงจะเย็บปิดแผล...”

          เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดแล้ว ก็จะมีนักกายภาพบำบัดมาดูแลและฝึกปฏิบัติให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะต้องฝึกเดินให้ได้อย่างน้อย 3-4 ก้าว โดยอาจใช้เครื่องพยุงตัว ในการช่วยเดิน ซึ่งเป็นการฝึกให้ร่างกายคุ้นชินกับข้อเข่าเทียมที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ เมื่อแพทย์ประเมินเห็นว่าผู้ป่วยได้ฟื้นตัวดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว ก็อาจจะอนุญาตให้กลับบ้านภายใน 5  วันหลังจากการผ่าตัด  ซึ่งหลังจากกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีนักกายภาพบำบัดให้คำแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่บ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย 

         เพื่อให้มีข้อมูลอย่างรอบด้าน คุณหมอภาสกร จึงสรุปไว้ด้วยเลยว่าโดยทั่วไปแล้ว ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนไป จะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 6 เดือนหลังผ่าตัด ซึ่งจะแข็งแรงเสมือนเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเองที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน หรือการขึ้นลงบันได รวมทั้งการออกกำลังกายบางอย่าง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เล่นกอล์ฟ ว่ายน้ำได้ปกติ แต่ที่ควรต้องหลีกเลี่ยงคือพฤติกรรม หรือการออกกำลังกายที่หนักๆ เช่น วิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายที่ไม่พึงประสงค์นั่นเอง แต่ถึงแม้ว่า จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าใหม่แล้ว ผู้ป่วยยังจะต้องดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ หมั่นทำกายบริหาร ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน เพื่อจะได้ช่วยยืดอายุการใช้งานข้อเข่าเทียมได้...

         ท่านที่มีปัญหาเรื่องนี้ขอแนะว่าควรนัดไปปรึกษากับคุณหมอที่ ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา ดีกว่า  โทร.ติดต่อไปที่หมายเลข 053-999-777 ได้เลยครับ

13 กันยายน 2561

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์"รพ.ลานนา" รักษาผู้ป่วยพ้นภาวะ "กระดูกสันหลังเคลื่อน" แผลผ่าตัดเล็ก-หายไว.. ด้วยอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

          รพ.ลานนารักษาผู้ป่วยพ้นภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน…

          แผลผ่าตัดเล็ก-หายไวด้วยอีก 1 เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

          ให้ประโยชน์เป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยมา 

          ผ่านไปด้วยเรื่องราวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคปัจจุบันซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการผ่าตัดในอดีตแม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ...ขจัดเนื้องอกในสมองของผู้ป่วย... แต่หากถามว่า... ผู้ป่วยด้วยโรคอื่นนอกเหนือจากนี้จะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์อย่างไรอีกหรือไม่ และถ้ามี จะมีเรื่องใด??...

          “หมอจอแก้ว” ตอบได้เลยว่า...จริง ๆ แล้ว มีหลายอย่างด้วยครับ แต่ที่จะยกมาสาธยายให้ได้ทราบกันไว้ใน อุ่นใจ...ใกล้หมอ ฉบับนี้เป็นกรณีของ “ผู้ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน” ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหา “ปวดหลัง” นั่นเอง แต่ด้วยความที่ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของใครต่อใครมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ดังนั้นเมื่อปวดหลังขึ้นมาทีไรจึงไม่ใครจะมีใครใส่ใจกับมันมากนักเพราะคิดไปว่าปวดเดี๋ยวเดียวก็หาย...แต่เมื่อใดที่อาการหนักถึงขั้นกระดูกสันหลังเคลื่อนละก็...เรื่องใหญ่แน่ และสุดท้ายก็ต้องแจ้นไปพึ่ง “โรงหมอ” จนได้...หากไม่เชื่อก็ต้องขอเชิญมาติดตามกรณีของคุณผู้หญิงชาวเชียงใหม่ที่มีนามว่า คุณขันแก้ว ดอกขาว ดูก่อนนะครับ...
        
          ด้วยวัย 56 ปี “คุณขันแก้ว” ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟมาหลายปีแล้วได้เล่าถึงการประกอบอาชีพที่ทำให้เธอต้องยืนเป็นเวลานานเพื่อทำอาหารและดูแลลูกค้าในร้านในแต่ละวันโดยได้เกิดอาการปวดหลังแบบไม่นึกไม่ฝันมา 4-5 ปีแล้วซึ่งตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่ามันจะหนักหนาสาหัสถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดอาการขึ้นมาคราใดก็คิดว่าไปนอนพักสักเดี๋ยวคงหายจึงได้แต่ทนปวดเรื่อยมาโดยใช้วิธีรักษาด้วยการหายามาทานบ้าง ไปนวดคลายเส้นบ้าง ทำให้อาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันอยู่อย่างนั้น และในระยะหลังได้เกิดอาการที่เป็นบ่อยเวลายืนนาน ๆ คือ ปวดหลังร่วมกับชาร้าวลงขาซึ่งหนักขึ้นทุกวันจนแทบจะยืนทรงตัวไม่ได้ เดินก็ลำบากอีก เมื่อรู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้วก็ให้ลูกพาไปรับการตรวจที่ ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา เมื่อไม่นานมานี้โดยมี นพ.เดชวัศวร์ ศิวัชพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ เป็นเจ้าของไข้ 

          หลังจากได้ซักประวัติอาการของผู้ป่วยหญิงรายนี้แล้ว “คุณหมอเดชวัศวร์” ได้ส่งไปเข้ารับการตรวจด้วยเทคโนโลยีตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยพบว่าสาเหตุของการปวดหลังมาจากแนวของกระดูกสันหลังที่ผิดปกติไปจากเดิม คือมีการเคลื่อนตัวจากแนวเดิมและไปกดทับเส้นประสาทสันหลังมานานจึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป จึงได้แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับรักษาโดย “การผ่าตัดกระดูกสันหลัง และใส่เหล็กดามร่วมกับกระดูกเทียม” ซึ่งผู้ป่วยมิได้ขัดข้องแต่อย่างใดโดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยากทนความทุกข์ทรมานจากการปวดอีกต่อไปแล้ว”

          ผลจากการพัฒนาอย่าง ‘ไร้ขีดจำกัด’

          หากพูดถึงภาพในอดีตประมาณ 10-20 ปีย้อนหลังแล้ว ลักษณะของการผ่าตัดตามที่คุณหมอได้แนะนำผู้ป่วยนี้จำเป็นต้องเปิดแผลกว้างเพื่อทำการรักษาโดยใส่อุปกรณ์พิเศษหลายอย่างทั้งกระดูกเทียม และเหล็กดามกระดูกสันหลังในตัวผู้ป่วยโดยอาจเกิดผลเสียหรือภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ซึ่งจะมีทั้งรอยแผลเป็นแนวยาวที่เป็นผลให้ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นที่นานเป็นสัปดาห์หรือกว่านั้น อีกทั้งยังอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อีก...ขณะที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันได้ช่วยให้ศัลยแพทย์ทั่วโลกรวมทั้ง ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา ได้ใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก(MIS) ซึ่ง “คุณหมอเดชวัศวร์” อธิบายว่า

          “...เป็นเทคนิคที่ใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง โดยแพทย์จะเปิดผ่าตัดเปิดแผลประมาณ 2-3 ซม. บริเวณซ้าย และขวาของแนวกระดูกสันหลัง  เพื่อทำการรักษากระดูกสันหลังที่มีปัญหา และหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้น ประสาทอยู่ พร้อมใช้การดามเหล็กร่วมกับการใส่กระดูกเทียม เพื่อเข้าไปจัดแนวของกระดูกสันหลังให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด  ซึ่งวิธีการนี้เป็นผลดีทำให้กล้ามเนื้อหลังบอบช้ำน้อย อาการเจ็บแผลหลังการผ่าตัดลดลง รอยแผลเป็นมีขนาดเล็ก และการนอนพักฟื้นหลังผ่าตัดก็ใช้เวลาเพียง 3 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้แล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลนานเหมือนแต่ก่อน…”

          เรื่องนี้ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนเลยว่าคนที่ได้ประโยชน์จาก “เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก” คือ “ผู้ป่วย” ในยุคปัจจุบันที่ไม่อาจทนทุกข์ทรมานกับอาการอันเกิดจากโรคกระดูกสันหลังซึ่งไม่มีทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีอื่นใดนอกจาก “เข้ารับการผ่าตัด” สถานเดียว ดังจะเห็นได้จากกรณีการผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกสันหลังให้กับ “คุณขันแก้ว” และเจ้าตัวได้ออกปากว่า “รู้สึกดีขึ้นมากเหมือนยกภูเขาออกจากอก จากที่ต้องทนปวดหลังอยู่ตลอดเวลาแต่หลังจากผ่าตัดแล้วเหมือนได้ชีวิตใหม่ เพราะความทุกข์ทรมานจากอาการปวดได้หายไป พักรักษาตัวก็ไม่นาน...คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่ตัดสินใจมารักษาที่ ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา ค่ะ”

          กรณีนี้สะท้อนถึงผลของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของวงการแพทย์ซึ่งได้ช่วยให้ผู้ป่วยได้ก้าวข้ามความทุกข์ทรมานได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงรับสภาพกับภาวะแทรกซ้อนเหมือนดังแต่ก่อน...ขณะที่คุณหมอศัลยแพทย์ก็แค่กรีดมีดให้เกิดแผล 2-3 ซ.ม.ก็สามารถเข้าถึงและทำการบำบัดรักษาปัญหาที่กระดูกสันหลังของผู้ป่วยได้อย่างสะดวกด้วยการมองผ่านกล้องขยายอีกต่างหาก...

          ติดตาม “อุ่นใจ...ใกล้หมอ” จาก “เดลินิวส์” ไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่เราทั้งหลายจะได้รับจากความก้าวหน้าของวงการแพทย์ยุคใหม่เป็นประจำครับ 

"ผู้สูงอายุ" อย่าทน.. "ปวดทรมาน!!!" ถ้า.. "ข้อเข่าเสื่อม" รพ.ลานนา เชียงใหม่ รักษาทั้งใช้ยา-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

          ผู้สูงวัยอย่าทนปวดทรมานถ้า...ข้อเข่าเสื่อม...

          รพ.ลานนารักษาทั้งใช้ยา-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า  

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกรักษาแบบประคับประคอง

          วัยวะที่แบกรับน้ำหนักตัวให้เรามาตั้งแต่มีวัยแค่หัดยืนไปจนถึงเดินและวิ่งได้อย่างคล่องตัวคือ “เข่า” แต่จะมีผู้คนไม่มากนักที่ห่วงใยให้ความสำคัญกับการใช้เข่าอย่างทะนุถนอม ซึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อยังอยู่ในช่วงชีวิตที่อายุอานามยังไม่ถึงขั้นที่จะถูกใครเรียกว่า “คุณลุง” หรือ “คุณป้า” ก็จะยังคงใช้เข่าได้สะดวกใจไร้ปัญหาเว้นเฉพาะแต่บางคนที่อาจเคยเจออุบัติเหตุทำให้เข่าต้องถูกกระทบกระแทกได้รับบาดเจ็บกับอีกพวกที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ขาดความระมัดระวัง เรื่องน้ำหนักตัวโดยปล่อยให้เพิ่มขึ้นจนเกินความพอดีก็อาจออกอาการปวดเป็นการเตือนให้เจ้าตัวได้รับรู้ขึ้นมาแม้จะมีวัยอยู่ในระดับ “คุณน้า” หรือ “คุณอา” ก็ตาม... แต่เมื่อใดที่สูงวัยขึ้นไปอีกระดับหนึ่งละก็โอกาสที่จะได้เจอกับอาการ “ปวดหัวเข่า” จะยิ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหาเรื่อง “ความเสื่อม” ของกระดูก และข้อซึ่งรวมทั้ง “ข้อเข่า” เพิ่มเข้ามาอีก... ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้เจอประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญอันเป็นความทุกข์ระทมจากปัญหา “โรคข้อเข่าเสื่อม” ที่พบได้บ่อยที่สุดถึงขนาดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้สูงอายุอีกด้วย ผลกระทบที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่ตัวผู้ป่วยเท่านั้นหากแต่ยังรวมถึงครอบครัวที่ต้องคอยห่วงใยดูแลช่วยเหลือในระหว่างใช้ชีวิต และทำกิจวัตรประจำวันนั่นเอง 
  
          จากสถิติเมื่อปี พ.ศ.2553 พบว่ามีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมราว 6 ล้านคน แถมยังมีข้อมูลอีกด้วยว่าอุบัติการณ์ของการเป็นโรคนี้เกิดขึ้นแม้ผู้ป่วยจะมีวัย 45 ปีซึ่งยังไม่สูงเท่า “คุณลุง” หรือ “คุณป้า” ด้วยซ้ำ... อาจมีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่... มันก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวสูงมากเกินควรเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มนักกีฬาประเภทที่ต้องเจอแรงมากระทำต่อข้อเข่ามากกว่าคนทั่วไปรวมทั้งประเภทที่ส่อเค้าว่าจะนำมามาซึ่งอุบัติเหตุกับหัวเข่าจนเกิดการแตกหักหรือบาดเจ็บถึงขั้นเอ็นฉีกขาดอันจะก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียความมั่นคงในข้อเข่าตามมา... ส่วนอีกกลุ่มที่มีปัญหาโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ข้อเกิดการอักเสบบ่อยๆ อาทิ โรครูมาตอยด์ มาเป็นแรงหนุนก็มีสิทธิ์เจอปัญหาจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน 

          แรกทีเดียวผู้เจอปัญหาข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการที่เริ่มจากปวดเข่า ซึ่งนานวันเข้าก็จะยิ่งปวดบ่อยขึ้น โดยมากจะเกิดตอนที่นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบหรือนั่งยอง... หรือหากขึ้น-ลงบันไดแล้วเกิดความปวดมากละก็.... ใช่เลย !! ยิ่งถ้าสังเกตเห็นว่าเข่าบวมเอามืออังดูแล้วรู้สึกอุ่นๆ ก็แปลว่าน่าจะเกิดการอักเสบขึ้นมาแล้ว... แต่กว่าจะถึงคราวที่มันจะปวดถึงขั้นรุนแรงผู้ป่วยก็มักเลือกที่จะดูแลตัวเองไปก่อนโดยหายามาทานวดหรือรับประทานให้ทุเลาความปวด บวม และพักการใช้เข่าไว้ก่อนต่อเมื่อผ่านไปหลายวันแล้วไม่ดีขึ้นจึงจะเริ่มคิดไปปรึกษาหาหมอ โดยมีผู้ป่วยบางรายกัดฟันใช้ชีวิตอยู่กับความปวดนานถึง 3-4 ปีก็มี ดังเช่น คุณอนันต์ สิริสิทธิ์ วัย 56 ปีที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งหลังจากหมดความอดทนแล้วได้มุ่งหน้าไปที่ “ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา” เพื่อให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมานเสียที...

          ‘ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า’…ทางออกเพื่อคุณภาพชีวิต

          ก่อนตัดสินใจ “ตัดเชือก” กับอาการปวดข้อเข่า “คุณอนันต์” เล่าว่า “...ผมเริ่มรู้สึกเจ็บปวดทรมานจากอาการปวดเข่ามาประมาณ 3-4 ปี ซึ่งได้หาทางรักษามาโดยตลอดไม่ว่าจะด้วยการทานยา ฉีดยา ทำกายภาพบำบัดแต่ก็ได้แค่บรรเทาอาการพอหมดฤทธิ์ยาอาการปวดก็เกิดขึ้นอีกจนสุดท้ายอาการกำเริบหนักไม่สามารถเดินได้นานเพราะเจ็บไปไหนไกลก็ไม่ได้ทำงานก็ไม่ดีเหมือนเดิมสุดท้ายก็ต้องพึ่งพาคุณหมอให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างซ้ายเพราะอายุของผมแค่ 56 ปียังทำงานได้อีกนานจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ข้อเข่าเทียมดีกว่าถ้าไม่อย่างนั้นก็คงทำงานไม่ได้เหมือนเดิม... ความทรมานจากอาการปวดเข่าทำให้ความสุขในชีวิตเราลดลงจะทำอะไรแต่ละอย่างก็ลำบากไปหมดตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพราะกลับมาเดินได้ดีอีกครั้งโดยไม่ต้องจมกับความเจ็บปวด ความสุขในชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแล้วครับ... หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้านซ้ายเป็นที่เรียบร้อยได้ 1 วันผมก็สามารถลุกเดินไปเข้าห้องน้ำได้เอง โดยคุณหมอได้ให้ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องราว 1 เดือนหลังผ่าตัดซึ่งช่วยให้ผมกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาการปวดที่เคยมีก็ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ  ถึงวันนี้ก็ผ่านมาประมาณ 3 ปีแล้ว ชีวิตผมดีขึ้นกว่าเดิมเยอะนอนหลับสบายไม่ต้องทนปวดตอนกลางคืนเหมือนที่เคยเป็น ทำงานใช้ชีวิตเป็นปกติเรื่อยมา… และเมื่อเข่าข้างขวามีสัญญาณเตือนโดยปวดมากขึ้นผมก็ไม่รีรอที่จะมาหาหมอเพราะรู้ดีแล้วว่าการเปลี่ยนข้อเข่าทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นจริงๆ จึงตัดสินใจมาปรึกษาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างขวากับ “คุณหมอภาสกร” ที่ รพ.ลานนา อีกครั้งโดยไม่รู้สึกกังวล เพราะเชื่อฝีมือที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าผมมาแล้ว... ซึ่งผลการผ่าตัดก็เป็นไปได้ด้วยดี และเช่นเคยคือไม่ถึง 24 ชั่วโมงผมก็สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้แล้วครับ”

          หมอจอแก้ว แทบไม่ต้องใช้เวลาเรียบเรียงถ้อยคำจากคำบอกเล่าของ คุณอนันต์ เพราะเห็นว่ามีความกระชับและมีใจความตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายดีอยู่แล้ว... แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ข้อมูลอย่างรอบด้านจึงได้ขอแรง “คุณหมอภาสกร” หรือ นพ.ภาสกร อุปโยคิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ประจำศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยรายนี้อีกทางหนึ่ง 

          “...เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมทั้งสองข้าง โดยก่อนหน้านี้ก็ได้รับยามาทาน การฉีดยาบรรเทาปวด แต่ผลการรักษาก็ไม่ดีขึ้น จึงแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทีละข้าง โดยเริ่มจากข้างซ้ายเมื่อ 3 ปีก่อน และมาเปลี่ยนข้อเข่าด้านขวาในครั้งนี้ ซึ่งก่อนการผ่าตัดก็ได้ตรวจร่างกายของผู้ป่วยทั้งเรื่องของหัวใจ ปอด ความดันโลหิต เบาหวาน และค่าไตว่าปกติดีหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อม และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจึงได้ทำการผ่าตัดด้วยการเปิดหัวเข่า และตัดเอาส่วนกระดูกที่เสียออกไปก่อนใส่ข้อเข่าเทียมที่ได้ทำไว้ให้ผู้ป่วยแต่ละรายโดยผ่านการผลิตจากวัสดุทางการแพทย์ที่มีความทนทาน และไม่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะจัดเรียงแนวของข้อเข่าเทียมให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดจากนั้นจึงได้ตรวจเช็คความเรียบร้อยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าว่าดีแล้ว จึงจะเย็บปิดแผล…”

          ใช้หัวเข่าได้ตามปกติหลังการผ่าตัด

          คุณหมออธิบายเสริมด้วยว่าโดยทั่วไปแล้วข้อเข่าเทียมที่นำมาเปลี่ยนจะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือนหลังผ่าตัด ซึ่งจะแข็งแรงเสมือนเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเอง และเขาสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติไม่ว่าจะเป็นการนั่ง  การเดิน การขึ้นลงบันได รวมทั้งการออกกำลังกายบางอย่าง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการออกกำลังกายที่หนักๆ เช่น วิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนข้อเข่ามาใหม่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม โดยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ หมั่นทำกายบริหาร ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ก็จะเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานข้อเข่าเทียมได้อีกด้วย

          ได้ทราบถึงทางออกของผู้ที่เจอความทุกข์ทรมานจากอาการ “โรคข้อเข่าเสื่อม”  รวมทั้งยังมีข้อมูลจาก คุณหมอภาสกร มาให้ความกระจ่างอย่างนี้แล้วก็เชื่อเหลือเกินว่า “คุณลุง” กับ “คุณป้า” ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือใกล้เคียงคงตัดสินใจได้ว่าถึงเวลาหรือยังสำหรับการ “ตัดเชือก” เพื่อให้หลุดพ้นปัญหาอาการปวดจากโรคนี้ และได้มีชีวิตที่แฮปปี้ไม่ต่างกับ คุณอนันต์ ไงครับ   

นศ.คณะพยาบาลแมคคอร์มิค ศึกษาดูงาน รพ.ลานนา


องค์กรพยาบาล โรงพยาบาลลานนา นำโดยคุณนฤมล วัฒนปฤดา หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล พร้อมทั้งทีมหัวหน้าพยาบาลฝ่ายต่างๆ ให้การต้อนรับ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค นำโดย อ.ดร.ศุภนารี  เกษมมาลา อ.ประจำคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อมาศึกษาดูกระบวนการทำงานในโรงพยาบาล พร้อมพาเยี่ยมชมการปฏิบัติงานจริงในหอผู้ป่วย และแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และประสบการณ์จริงจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ณ โรงพยาบาลลานนา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 





         

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ ทนมา 5 ปีอาการหนักขึ้นต้องใช้อุปกรณ์พยุงตัวจึงตัดสินใจ.. คืนความสุขให้ตัวเองโดย "เปลี่ยนข้อสะโพก" ที่ รพ.ลานนา

          ทนมา 5 ปีอาการหนักขึ้นต้องใช้อุปกรณ์พยุงตัวจึงตัดสินใจ...

          คืนความสุขให้ตัวเองโดยเปลี่ยนข้อสะโพกที่ รพ.ลานนา ชม.

          เปิดใจแม้ไม่เคยผ่าตัดใหญ่ก็ต้องยอม

          ปัญหาคาอกที่สร้างความทุกข์ให้กับ คุณศิริพร ยาวิชัย วัย 64 ปีเป็นเวลานานถึง 5 ปีคือความเจ็บป่วยด้วย “โรคข้อสะโพกเสื่อม” ซึ่งทำให้ต้องเผชิญความเจ็บปวดรวดร้าวเรื่อยมาเวลาที่ต้องขยับตัวเคลื่อนไหวส่วนล่างของร่างกายที่อาศัยสะโพกเป็นแกน โดย คุณศิริพร เผยว่าตอนแรก ๆ ยังปวดไม่มากก็ยังพอทนแต่พอนานหลายปีเข้าก็ยิ่งลำบากเมื่อต้องการลุกไปนั่นมานี่ ที่ผ่านมาได้ไปหาหมอแค่ปีละครั้งโดยจะยอมไปเฉพาะเมื่อเกิดความปวดจนทนไม่ไหวแล้วเท่านั้น แต่เมื่อผ่านมาถึงปีที่ 5 อาการก็หนักหว่าเดิมถึงขนาดว่าต้องหาอุปกรณ์มาช่วยพยุงตัวเวลาลุกยืนหรือเดิน ซึ่งเจ้าตัวย้ำเลยว่า “ทั้งปวด ทั้งลำบาก”...ซึ่งเมื่อเจอเข้าอย่างนั้นบ่อยครั้งก็เริ่มคิดและตัดสินใจไปพึ่งคุณหมอโดยหวังที่จะให้ตัวเองได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถเดินเหินได้สะดวกเหมือนก่อนหน้านี้จะได้พ้นความทรมานให้เร็วที่สุดได้จะดีมาก...หลังจากคิดได้ดังนั้นแล้วผู้ป่วยรายนี้ได้มุ่งหน้าไปยัง ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อประจำศูนย์ฯ ระบุว่า... ข้อสะโพกด้านซ้ายเสื่อมหนัก... คุณหมอจึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยใช้ เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งนอกจากจะไม่ขัดข้องแล้ว คุณศิริพร ยังพร้อมให้คุณหมอนัดวันผ่าตัดในสัปดาห์ถัดไปไว้เลยแม้ว่าตั้งแต่เล็กจนโตจะไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่มาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว...

          ส่วนที่ว่าผลที่ปรากฏหลังการผ่าตัดจะเป็นอย่างไรนั้น “หมอจอแก้ว” ขออุบไว้เล่าให้ทราบหลังจาก พาไปติดตามข้อมูลความรู้เกี่ยวกับที่มาสาเหตุของ “โรคข้อสะโพกเสื่อม” รวมถึงปัญหาอาการที่จะตามมาสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยดังตัวอย่างที่นำมาถ่ายทอดนี้ 

          ‘ผ่าตัด’หรือ ‘ใช้ยา’ แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย...

          “ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม จะเป็นกลุ่มของผู้สูงอายุอันมีสาเหตุจากความเสื่อมตามอายุขัย แต่นอกจากนั้นยังพบว่าคนวัยกลางคนก็สามารถเป็นได้โดยอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ โรคในกระดูก  สาเหตุจากเลือดไม่ไปเลี้ยงหัวข้อสะโพก รวมทั้งผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และคนที่ได้รับสาร “สเตียรอยด์” ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้เร็ว ซึ่งอาการส่วนใหญ่ของคนไข้ที่มำพบแพทย์มักจะมาด้วยอาการ ปวดสะโพกเรื้อรัง เวลาเคลื่อนไหว เดิน นั่ง ยืน บางคนเป็นหนัก แม้แต่อยู่เฉย ๆ ก็ปวดสะโพกได้...” 

          ผู้ระบุข้อมูลข้างต้นนี้คือ นพ.ดุสิต ศรีสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ รพ.ลานนา ซึ่งนอกจากนี้ยังสรุปให้ทราบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญปัญหาความทุกข์ทรมานจากโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยภาวะอาการที่แตกต่างกันมีทั้งปวดแถว ๆ สะโพกด้านหลังคล้ายกับอาการของโรคปวดหลังซึ่งทำให้ผู้ป่วยแยกแยะไม่ถูกและไม่รู้ตัวว่าเจอโรคข้อสะโพกเสื่อมเข้าให้แล้ว จึงเป็นผลให้การรักษาไม่ถูกที่ถูกทางจนไปถึงขั้นเรื้อรังและรักษายากขึ้นขณะที่บางคนมีอาการหนักถึงขั้นเดินแทบไม่ได้ทั้ง ๆ ที่อาการที่เกิดขึ้นเมื่อแรกเริ่มนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายจะส่งผลให้ปวดมากขึ้นจนต้องพักจึงจะทุเลาแต่เชื่อเลยว่ายิ่งนานวันเข้าอาการปวดก็จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นจนผู้ป่วยแทบขยับไม่ได้ดังที่กล่าวไว้ซึ่งหนทางสุดท้ายของการรักษา คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อทดแทนข้อสะโพกที่เสื่อมเสียไป 

          แต่...ประเด็นการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยหลายรายยังไม่มั่นใจแถมยังกลัวอีกด้วยว่าผ่าตัดแล้วจะสามารถกลับไปเดินได้เหมือนเดิมหรือไม่ ??...แต่จริง ๆ แล้ว ก่อนจะไปถึงขั้นที่ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยการผ่าตัดนั้น แพทย์จะทำการตรวจประเมินวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเสื่อมของสะโพกรุนแรงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ด้วยแหตุที่การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายที่เกิดภาวะอาการแตกต่างกันทำให้แพทย์ต้องวินิจฉัยเป็นกรณีไป โดยอาจเริ่มตั้งแต่การให้ยาไปรับประทาน หรือกรณีที่เกิดอาการปวดมากก็จะให้ฉีดยาระงับปวด รวมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งหากให้รักษาในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือหนักกว่าเดิม แพทย์จึงจะพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งเป็นการนำข้อสะโพกเก่าที่มีปัญหาออก แล้วนำข้อสะโพกเทียมที่ทำมาจากวัสดุการแพทย์พิเศษใส่เข้าไปแทน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เช่นเดิม

          อย่างไรก็ตามคุณหมอก็ต้องคำนึงถึง “ข้อห้าม” ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสำหรับผู้ป่วยบางกรณีด้วย เพราะบางรายอาจมีความไม่พร้อมในบางเรื่องเช่น ผู้ป่วยรายที่อ้วนและมีน้ำหนักตัวมาก หรือในรายที่มีข้ออักเสบติดเชื้อ หรือกล้ามเนื้อรอบสะโพกของผู้ป่วยยังอ่อนแรงมากซึ่งอาจมีปัญหาข้อสะโพกหลุดเคลื่อนได้ง่าย เป็นต้น 

          ความยินดีของ...ผู้ก้าวข้ามความทรมาน...

          ถึงตรงนี้ “หมอจอแก้ว” จะให้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเหนือที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่หรือใกล้เคียงได้ทราบว่าหลังจากที่ คุณศิริพร ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้วเป็นอย่างไร...

          “...หลังการผ่าตัดได้ 3 วันดิฉันก็สามารถลุกขึ้นยืนได้และนอนพักที่ รพ.ลานนารวม 5 คืนคุณหมอก็ให้กลับบ้านได้ โดยรอให้แผลผ่าตัดหายดีและฝึกเดินตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ แต่คุณหมอบอกว่าต้องลดน้ำหนักและเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อข้อสะโพกให้เสียหายได้...การที่เราเดินเอง เดินได้ดี ไปไหนมาไหนได้คล่อง และใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานโดยไม่มีความเจ็บปวดทรมานใด ๆ ถือเป็นความสุขที่สุดในบั้นปลายชีวิตของดิฉันแล้ว คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่เลือกตัดสินใจผ่าตัดข้อสะโพกในครั้งนี้ ทำให้ความสุขของดิฉันกลับมาอีกครั้งค่ะ...”

          เชื่อเหลือเกินว่าท่านผู้อ่านคงไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ เพิ่มเติมอีกแล้วละครับ…

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ รพ.ลานนา เป็นห่วง "ภัยเงียบในมดลูกและรังไข่" แนะสตรีต้องหาหมอหากปวดเรื้อรังเมื่อมีรอบเดือน

          รพ.ลานนา ห่วงภัยเงียบในมดลูกและรังไข่ 

          แนะสตรีหาหมอหากปวดเรื้อรังเมื่อมีรอบเดือน

          ทนปวดท้องทุกเดือนมา 5 ปีจนได้เรื่อง !!

          เรื่อง ของ ความปวด ที่สร้างปัญหาให้เฉพาะกับคุณผู้หญิงตั้งแต่เป็นสาวจนถึงวัยกลางคนไปแล้วโดยที่คุณเธอส่วนใหญ่มักต้องเจอกับความทุกข์ทรมานกันเรื่อยมาทุกเดือนคือ ปวดประจำเดือน โดยบางรายปวดถึงขนาดไม่เป็นอันทำการทำงานเพราะต้องนอนร้องโอดโอยไปจนกว่าความปวดจะคลี่คลาย ซึ่งใช่ว่าจะเป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่างเดียวเท่านั้นเพราะนอกจากความปวดนี้แล้วยังอาจมีปัญหา ซ่อนเร้น โดยที่เจ้าตัวไม่ระแคะระคายอีก ยิ่งปล่อยไว้นานวันก็ยิ่งเพิ่มพูนอันตรายให้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาแบบไม่กระโตกกระตาก เพราะคิดว่าปวดแค่เดือนละครั้งจะเป็นไรไป ไม่กี่วันก็หายเป็นปกติเหมือนเดือนก่อนๆ...แต่ในที่สุดอาการปวดท้องมันรุนแรงสุดทนต้องไปพึ่งหมอแล้วก็ต้องตกอกตกใจกับผลการตรวจที่ปรากฏว่ามี สิ่งแปลกปลอม แอบเข้ามาเจริญพันธุ์อยู่ในระบบมดลูกรังไข่ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครตอบได้...สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องให้คุณหมอ เฉือนทิ้ง เพื่อประโยชน์ในด้านการบำบัดรักษามิให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่มากวนใจในวันข้างหน้าอีก

          หากเจอกรณีอย่างนี้เมื่อหลายๆ ปีก่อนก็คิดดูแล้วกันว่ามันจะยุ่งยากขนาดไหน เพราะนอกจากต้องมีการตรวจภายใน แล้วยังอาจต้องพึ่งพาอาศัยการเอ็กซเรย์อีกเพื่อที่คุณหมอจะได้พิจารณาถึงการบำบัดรักษาในขั้นต่อไปว่าสมควรต้องเดินหน้ารักษาอย่างไร แต่หากนึกภาพของเครื่องไม้เครื่องมือตลอดทั้งวิทยาการทางการแพทย์ในช่วงหลาย 10 ปีก่อนก็อาจจำได้ว่ายังไม่ก้าวหน้าทัดเทียมกับในปัจจุบันอย่างแน่นอน จึงเดาได้เลยว่าเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่เจอภาวะอาการปวดท้องรุนแรงที่จะมาล่วงรู้ได้เลยว่าเจอกับ ภัยเงียบ เข้าให้แล้ว ยิ่งเมื่อพ้นช่วงรอบเดือนแล้วอาการปวดท้องได้หายไปก็ทำให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะแค่ปวดเดือนละครั้งจึงแทบไม่มีใครนึกถึงการตรวจ อีกทั้งหากจะไปตรวจก็ยังกลัวโน่นกังวลนี่โดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ที่จะเชื่อถือได้ในความรวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้งเมื่อคุณหมอตรวจพบก็หนีไม่พ้นต้องไปทำใจกับการ ผ่าตัด ซึ่งถือเป็น เรื่องใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความกังวลกับทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างที่ต้องรอ ลุ้น ผลซึ่งอาจต้องใช้เวลานานพอควรกว่าจะฟื้นตัวและหายเป็นปกติ !!

          แต่นั่นเป็นเพียง ภาพในอดีต ซึ่งแตกต่างกับยุคปัจจุบันเมื่อคุณผู้หญิงที่เจอปัญหาอาการ ปวดท้องรุนแรง เดือนละครั้งแบบเดียวกันไม่ต้องรอถึงเดือนต่อไปและต่อไปจึงค่อยมาคิดถึงการตรวจหาต้นเหตุความปวดเรื้อรังที่มีภัยเงียบเป็นของแถมด้วยปัญหา โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเป็นก้อนใหญ่ขึ้นผิดที่ผิดทางหากปล่อยไว้จะเกิดอักเสบและปวดท้องรุนแรงอย่างที่เจอกันมาทุกรอบเดือนนั่นเอง และหากมันไปเบียดรังไข่ และท่อรังไข่จนคดงอละก็จะส่งผลให้การผลิตไข่ด้อยคุณภาพและตามมาด้วยปัญหาการมีบุตรยาก แต่หากเจ้าก้อนซีสต์นี้ไปอยู่ใกล้อวัยวะเช่นไตก็อาจส่งผลถึงกับไตวายได้เหมือนกัน ดังนั้นการไปหาคุณหมอเพื่อตรวจหาก่อนที่มันจะอาละวาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณผู้หญิงทุกคนที่ไม่ควรต้องไปเสี่ยงกับ ภัยเงียบ แบบนี้เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในยุคนี้ได้ช่วยให้อะไรต่อมิอะไรง่ายและสะดวกมากขึ้นกว่าในอดีตมากเป็นผลให้คุณหมอมีอุปกรณ์ทันสมัยเช่นอัลตร้าซาวน์มาช่วยให้ตรวจหาได้รวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งหากตรวจพบและคุณหมอลงความเห็นว่าไม่ควรเก็บก้อนซีสต์นี้ไว้ละก็ แน่นอนว่า การผ่าตัด คือทางเลือกขั้นต่อไป...

          แต่ว่าจะทราบกันหรือยังครับว่า เดี๋ยวนี้มี เทคโนโลยีส่องกล้องผ่าตัดมดลูก-รังไข่มาบริการแล้ว ซึ่งประโยชน์ที่จะเห็นได้ชัดเรื่องแรกคือ หมดกังวลกับรอยแผลผ่าตัดขนาดยาวที่หน้าท้องได้เลย ส่วนประโยชน์ขั้นต่อมาคือเจ็บตัวน้อยกว่าการผ่าแบบเดิมจึงไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานซึ่ง ศูนย์ส่องกล้องผ่าตัดแผลเล็ก มดลูก-รังไข่  รพ.ลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยหญิงที่มีนิวาสถานอยู่ในเวียงพิงค์หรือจังหวัดใกล้เคียงได้มีที่พึ่งในการตรวจ-รักษาใกล้ที่พำนักนั่นเอง

          ปวดท้องรุนแรงเพราะ ‘ซีสต์เจ้าปัญหา’ !! 

          ผู้ป่วย หญิงรายหนึ่งคือ คุณญาณิศา  เตชาคำ ได้เจอฤทธิ์พิษภัยของ ช็อกโกแลตซีสต์ ที่ได้เจอมากับตัวเองทุกเดือนอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ปีได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดโดยเล่าว่า “...จะปวดท้องทั้งในระหว่างมีและหลังจากมีรอบเดือนไปแล้ว ซึ่งถ้าปวดมากก็หายาแก้ปวดมาทานเรื่อยมาโดยไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย เพราะเพียงคิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากการมีประจำเดือนของผู้หญิงทั่วๆ ไปจนไม่นานมานี้ระหว่างขับรถดิฉันรู้สึกปวดท้องรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งมันไม่ใช่อาการปวดท้องจากระบบทางเดินอาหารอย่างแน่นอน  จึงได้เดินทางมาที่ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลลานนา เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็คในทันที...”

          หลังจากที่ซักประวัติอาการป่วยของ คุณญาณิศา อย่างละเอียดแล้ว พญ.ภัทรามาส เลิศชีวกานต์ สูตินรีแพทย์ ประจำ รพ.ลานนา จึงทราบว่าผู้ป่วยมีอาการในลักษณะนี้มานานหลายปีแล้วโดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนซึ่งเข้าข่ายเกี่ยวกับการเป็นโรคในสตรีในเบื้องต้นจึงได้ทำการ ตรวจภายในทั่วไป และได้พบถึงความผิดปกติจึงได้ส่งตรวจเพิ่มเติมโดย การอัลตร้าซาวน์ช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งผลจากการตรวจทำให้พบ ถุงซีสต์ขนาดใหญ่ 7-8 ซม.  ถึงสองข้างด้วยกัน จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำเอาถุงซีสต์ออกโดยจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องเพื่อให้พ้นจากอาการปวดที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ คุณหมอภัทรามาส ได้อธิบายถึง การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช หรือ Gynecologic Laparoscopic Surgery โดยสรุปว่าเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคของสตรีโดยใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการสอดกล้องผ่านเข้าไปในช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนรีเวชในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งหมายรวมถึงรังไข่ มดลูก ท่อนำไข่ และบริเวณใกล้เคียงวิธีนี้ได้รับความนิยมและเหมาะสมมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่อยากมีแผลเป็นที่สะดุดตา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการผ่าตัดแบบเล็กที่ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงลดอาการเจ็บแผล และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยอีกด้วย… เพราะอย่างนี้เองที่ช่วยให้ คุณญาณิศา คลายความกังวลทั้งๆ ที่เคยมีตัวอย่างจากเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นโรคเดียวกันเคยรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดแผลยาวที่หน้าท้องมาก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากผ่าตัดแล้วได้นอนพักใน รพ.ลานนา 3 คืนคุณหมอก็อนุญาตให้กลับบ้านโดยโดยเจ้าตัวระบุว่าไม่ต้องทนเจ็บแผลแต่อย่างใด แถมยังฝากข้อคิดมายังคุณผู้หญิงทั้งหลายอีกด้วยว่า 

         “...หากมีอาการปวดท้องผิดปกติ ปวดท้องเรื้อรังไม่หายสักที หรือแม้แต่อาการผิดปกติระหว่างรอบเดือนละก็อย่าอายที่จะไปหาหมอ เพราะอาการผิดปกติที่เราคิดว่าธรรมดาทั่วไปอาจมีโรคร้ายอื่นๆ แฝงอยู่ด้วยก็เป็นได้ค่ะ...”

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ รพ.ลานนาเชียงใหม่ไม่น้อยหน้าทางด้าน "การรักษา" ใช้ "เทคโนโลยีส่องกล้องผ่าตัด" ช่วยเหลือผู้ป่วยเช่นกัน

          รพ.ลานนา ชม.ไม่น้อยหน้าด้านการรักษา

          ใช้ ‘เทคโนฯ ส่องกล้องผ่าตัด’ ผู้ป่วยเช่นกัน...

          โรค ภัยไข้เจ็บอีกชนิดหนึ่งซึ่งใครๆ ก็เข้าใจตรงกันว่ามันจะมาเล่นงานเฉพาะเจาะจงแต่คุณ ผู้ชายคือ ไส้เลื่อน แต่ใน
ความเป็นจริงแล้ว คุณผู้หญิงก็มีสิทธิ์เจอฤทธิ์ของไส้เลื่อนได้เช่นกัน บังเอิญว่าอาจเกิดขึ้นในจำนวนน้อยมาก จึงไม่ได้รับการ
กล่าวถึงและทำให้โรคนี้เป็นที่หวั่นเกรงของฝ่ายชายมาตลอด ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งหนีไม่พ้นต้องหกคะเมนตีลังกา หรือเล่นกีฬากับพรรคพวกเพื่อนฝูงเป็นประจำ ซึ่งวันดีคืนดีก็อาจได้รับคำเตือนจากเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่คลุกคลีกันเรื่อยมาโดยบอกว่า กางเกงในน่ะต้องใส่ติดตัวไว้ ไม่อย่างนั้นอาจเจอไส้เลื่อนถามหา เดี๋ยวจะว่าไม่เตือน... จึงกลายเป็นเรื่องที่จำติดตัวกันเรื่อยมาว่าเหตุที่เป็นไส้เลื่อน ก็เพราะไม่ชอบใส่กางเกงในนั่นเอง แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิดถนัด เพราะต้นเหตุของการเกิดปัญหา
ไส้เลื่อน นั้นมิได้เกิดจากสาเหตุที่ว่านี้แม้แต่น้อย หากแต่เป็นเพราะมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด หรือมิฉะนั้นก็มีความเสื่อมเกิดขึ้นตามวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ขณะที่บางคน อาจไปเจออุบัติเหตุที่หน้าท้องจนทำให้กล้ามเนื้อ ผนังหน้าท้องอ่อนกำลัง หรือหย่อนลง ก็มีทำให้มีอวัยวะเลื่อนไหล หรือเคลื่อนตัวมารวมอยู่ตรงหน้าท้อง หัวหน่าว หรือแม้แต่ใกล้ๆ บริเวณอวัยวะเพศโดย
ยังมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ที่ผ่านการผ่าตัดช่องท้อง สะดือ ถุงอัณฑะ ขาหนีบมาแล้ว...

          ปัญหาที่ตามมาคือความทุกข์ทรมานซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจนไม่อาจทนต่อได้อีกต่อไป...
  
          หากมีข้อสงสัยว่ามันทรมานอย่างไร ก็ลองติดตามข้อมูลจากผู้ป่วยชายรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ ที่ได้ผ่านความทรมานจากการเป็นไส้เลื่อนมาแล้วทำให้สามารถลำดับเรื่องราวที่เจอมาเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้โดยเริ่มจากอาการบวมนูนที่บริเวณขาหนีบทำให้รู้สึกเจ็บแปลบๆ บริเวณที่นูนออกมานั้นตลอดเวลา...แต่เขาได้เลือกวิธีรักษาตามแนวคิดของตัวเองอย่างเป็นตอนโดยเริ่มจาก 

          “....ดันให้ส่วนที่นูนกลับเข้าที่  และไปซื้อกางเกงแบบ ซัพพอร์ตเตอร์ มาใส่โดยหวังว่าจะช่วยทุเลาอาการที่เกิดขึ้นเพราะไม่อยากไปหาหมอด้วยความกลัวที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด และต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน หากแต่วิธีที่ว่านี้ใช้ได้ผลอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็กลับมาเป็นอีก เป็นอย่างนี้มาตลอด 2 ปีจนกระทั่งมันกำเริบหนักขึ้นคือดันนูนออกมาแล้วไม่ยอมกลับคืนที่เดิมแม้ว่าผมจะออกแรงดันกลับไปอย่างไร ก็ไม่เป็นผล ทำให้ตัดสินใจไปหาหมอดีกว่า.... จึงไปที่ รพ.ลานนา และคุณหมอผู้ตรวจก็ได้แนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดโดยอธิบายถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่จะใช้ผ่าตัดในกรณีของผมทำให้ทราบว่าไม่ได้ผ่าเปิดแผลใหญ่แบบเดิมที่ผมเคยทราบและหวาดเสียวจนไม่ยอมมารักษาในตอนแรก และอีก 2 วันถัดมาผมก็ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยอยู่ใน รพ.ลานนา 2-3 วันก็กลับบ้านได้แล้วครับ...” 

          แผลเล็ก เจ็บน้อย หายไวไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่…

          นพ.เก่งกิจ เมธนาวิน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง รพ.ลานนา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาไส้เลื่อนซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่เจอพิษภัยของโรคนี้ ซึ่งที่ผ่านมาถึงปัจจุบันแพทย์จะทำการรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งมี 2 แบบๆ แรกจะเป็น การผ่าตัดแบบเปิด หมายถึงการเปิดแผลยาวประมาณ 8 – 10 ซม. เพื่อเข้าไปผูกตัดถุงที่ยื่นออกมา และเย็บซ่อมผนังหน้าท้องส่วนที่มีปัญหา แต่วิธีนี้ผู้ป่วยมักเกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด เพราะเสียเลือดมาก และมีการเย็บเนื้อเยื่อให้ติดตรึงกัน ใช้เวลาพักฟื้นใน รพ. 5 – 7 วัน แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อเดินให้ตัวตรงได้ตามปกติ โดยมีรอยแผลติดตัวไปตลอด... ส่วนในรายของผู้ป่วยชายรายนี้ คุณหมอเก่งกิจ เผยว่า

          “...เป็นกรณีที่ พบยาก และ พบไม่บ่อย คือ เป็นถึงสองข้าง ขณะที่กรณีปกติที่พบบ่อยๆ จะมีแค่ ไส้เลื่อนข้างเดียว เท่านั้น…จึงได้พิจารณาเลือกวิธีรักษาด้วย การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบใช้กล้องส่อง  ซึ่งเริ่มจากขั้นตอนการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 3 รูที่บริเวณผนังหน้าท้องสำหรับสอดกล้องขนาดเล็ก และเครื่องมือผ่าตัดพิเศษเข้าไปซ่อมผนังหน้าท้องด้านในให้แข็งแรงรวมทั้งการใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ปูคลุมกล้ามเนื้อที่มีปัญหาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกซึ่งวิธีการผ่าตัด
แบบนี้จะทำให้ลดโอกาสการเป็นซ้ำรู้สึกเจ็บไม่มากแผลมีขนาดเล็กซึ่งล้วนเป็นเอื้อประโยชน์ให้ผู้ป่วยกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดอีกแบบที่อธิบายไว้...”  

          หมอจอแก้ว เชื่อเหลือเกินว่า เทคโนโลยีการผ่าตัดรักษา ไส้เลื่อน ด้วยการส่องกล้องดังที่นำเสนอใน อุ่นใจ...ใกล้หมอ วันนี้จะช่วยลดความหวาดหวั่นเรื่องการผ่าตัดได้ไม่น้อยทีเดียวสำหรับท่านผู้อ่านชายชาวเหนือทั้งในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่เจอปัญหาและความทุกข์จาก โรคไส้เลื่อน... แต่ที่ต้องขอย้ำคือ...

          ไม่ควรปล่อยไว้นาน รีบไปพบและปรึกษากับคุณหมอเพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางรักษา เพราะหากปล่อยไว้นานๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อยทีเดียว แต่หากต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมละก็ขอเชิญติดต่อที่ ศูนย์ศัลยกรรมส่องกล้อง รพ.ลานนา โทร.053-999-777 ได้เลยครับ

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ ผู้ป่วยด้วย "โรคปวดหลัง-สารพัดปวด" ได้เฮ!! รพ.ลานนาใช้เทคโนโลยี "เลเซอร์บำบัด" รับมือ

          ผู้ป่วยด้วยโรคปวดหลัง-สารพัดปวดได้เฮ…

          รพ.ลานนา ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์บำบัดรับมือ

          โรค ฮิตติดอันดับสำหรับมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปเห็นจะเป็น ความปวดสารพัดอย่าง ซึ่งมีตั้งแต่ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเท้า มาสร้างความทุกข์และความวุ่นวายแม้จะได้ไปหาซื้อหยูกยาหลายขนานโดยหวังที่ให้อาการทุเลาลงให้ได้แต่ก็ไม่เป็นผล ทำเอา คนปวด ที่ยังไม่ถึงขั้นจะถูกเรียกว่า คนป่วย อาจต้องหาหนทางและที่พึ่งเพิ่มเติมเพื่อให้หลุดพ้น ความปวด อันแสนทรมานให้จงได้...แถมยังมีบางรายหันไปพึ่งเวทมนต์คาถาทาถูนวดด้วยน้ำมันที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วอีกต่างหากด้วยเหตุที่อาจมองว่าการไปพึ่งพาหาหมอหรือไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องไม่จำเป็นต้องไปเสียเงิน ขณะที่บางรายก็คิดว่ารักษาด้วยความคิดของตัวเองไปพลางก่อนก็อาจมีโอกาสหายได้อย่างใจคิด...แต่ ทำไปทำมา เสียเวลา...ก็แล้ว เสียเงินค่ายาแก้ปวดแก้อักเสบไปไม่น้อย...ก็แล้ว แต่เหตุไฉนจึงยังไม่อาจกำจัดความปวดที่รุมเร้าให้หมดไปเสียที ???

          เรื่องของ ความปวด นั้นถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับวงการแพทย์มาหลายยุคหลายสมัยแล้วและที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะวางเฉยกันในเรื่องดังกล่าว หากแต่ได้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อสืบค้นให้ชัดเจนถึงต้นตอแห่งความปวดตลอดทั้งพยาธิสภาพของโรคอันจะนำมาสู่การบำบัดรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งถือเป็นอีก 1 โจทย์ที่ได้มีการคิดค้นและนำมาซึ่งความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะในเรื่องของการบำบัดทางกายภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านยารักษาและระงับความปวด...ซึ่งในปัจจุบันได้มีการคิดค้น เทคโนโลยีกายภาพบำบัดด้วยเลเซอร์ มาใช้ประโยชน์ได้อีกทางหนึ่งสำหรับเป็นที่พึ่งให้ผู้ป่วยด้วยคุณสมบัติในการ สลายความปวด ที่เกิดขึ้นนั่นเอง...

          นพ.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน...... ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา อธิบายในเรื่องนี้โดยสรุปว่า เลเซอร์สลายปวด ที่พูดถึงนี้เป็น เลเซอร์ที่มีกำลังสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถทะลุทะลวงผ่านผิวหนังลงลึกไปสู่เป้าหมายหรือพื้นที่ของโรคที่ก่อความปวดได้อย่างตรงจุด...สามารถช่วยลดอาการความเจ็บปวดของโรคทางกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท อีกทั้งยังมีข้อดี ที่ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ลดบวมและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และที่เอ็นข้อต่อได้ด้วย แต่หากจะกล่าวโดยรวมแล้ว เทคโนโลยีกายภาพบำบัดด้วยเลเซอร์ จะเหมาะสำรับผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการปวดต่างๆ ในแต่ละบริเวณของร่างกาย ซึ่งกรณี การปวดบ่า ปวดหลัง ปวดคอ ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มของโรคที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม นั้น เลเซอร์บำบัด สามารถเป็น ทางเลือกใหม่ ในการสลายความปวดเหล่านั้น...โดยที่ อาการการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โรครองช้ำ เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ  ปวด บวม อักเสบตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยในเรื่องของการสมานแผลเช่น แผลเบาหวาน แผลกดทับ แผลบาดเจ็บต่างๆ ให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย

          ระหว่างที่ไปเข้ารับการรักษาด้วย เทคโนโลยีเลเซอร์บำบัด ประมาณ 3-5 นาทีต่อจุดนั้น ผู้ป่วย จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ แต่อาจรู้สึกว่ามีความอุ่นมาสัมผัสผิวกายเล็กน้อย โดยบางรายก็อาจไม่รู้สึกอะไรเลย และไม่มีการทาของเหลวใดๆ ที่ผิวหนัง แต่หลังจากผ่านการทำกายภาพบำบัดด้วยเลเซอร์ดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นและลดความปวดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หลังจากทำแล้วและจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในเวลา 8 ชั่วโมงต่อมา ส่วนที่ว่าจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยความถี่อย่างไรนั้นจะมีแพทย์และนักกายภาพบำบัดผู้รักษาร่วมพิจารณาโดยคำนึงถึงระดับอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก

          ในตอนท้าย นพ.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน...... ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา ได้สรุปถึงกรณีอาการปวด ที่อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตาม หากอาการที่เป็นอยู่ยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ทุเลาลงแล้วไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะนอกจากจะส่งผลให้อาการหนักยิ่งขึ้นแล้วยังจะยากแก่การรักษาอีกด้วย จึงฝากคำแนะนำให้แวะไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วจะดีกว่า หรือหากต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา โทร. 053 999 777

          หมอจอแก้ว เคยเห็นมาแล้วและรู้สึกเห็นใจเหลือเกินสำหรับใครที่ต้องเผชิญความปวดจากโรคต่างๆ ที่นำมาบอกกล่าวใน อุ่นใจ...ใกล้หมอ ฉบับนี้ พร้อมกับต้องขอแสดงความยินดีกับชาวเชียงใหม่รวมทั้งท่านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง หากไม่อยากต้องทนทุกข์จากความปวดจากหลายโรคที่ว่ามานี้ละก็...อย่างน้อยก็มี รพ.ลานนา เป็นที่พึ่งและเป็นทางเลือกให้หลุดพ้นความทุกข์ได้อีกแห่งหนึ่งนะครับ

11 กันยายน 2561

โรงพยาบาลลานนาจัดกิจกรรม ลานนาเพื่อชุมชน ปี 2561

          โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ จัดโครงการ "ลานนาเพื่อชุมชน" โดยขอเชิญผู้สนใจทุกท่านร่วมบริจาคเงิน สร้างห้องน้ำโรงเรียน จัดซื้ออุปกรณ์ห้องพยาบาล อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์สนามเด็กเล่น เครื่องกันหนาว เพื่อน้องนักเรียน และสมาชิก ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประชากรมีอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป ฐานะปานกลางถึงยากจน ทางเข้าหมู่บ้านทุรกันดารเป็นอันมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)ประจำทุกปี

          โดยท่านผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้ที่กล่องรับบริจาค หน้าแผนกการเงิน อาคาร A และ B โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ซึ่งจะมีกำหนดการนำไปบริจาค ในวันที่ 6 มกราคม 2561 นี้



โรงพยาบาลลานนา รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น

          สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบกิจการและสถานศึกษา ที่ผ่านเกณฑ์ตามโครงการรณรงค์เร่งรัดการตรวจและพัฒนาระบบการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัยฯ ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม ชั้น 2 โรงแรม ดิเอมเพรส เชียงใหม่

          ในปีนี้โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ เข้าร่วมรับรางวัล 2 รายการได้แก่รางวัลสถานประกอบการกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน

รพ.ลานนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “กองทุนประกันสังคมและกองทุนทดแทน” ร่วมกับ รพ.นครพิงค์

          นพ.ธีระยุทธ นิยมกุล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลลานนา พร้อมทีมหัวหน้าแผนก ให้การต้อนรับ นพ. ธำรง หาญวงค์ ผู้อำนวยการ พร้อมคณะศึกษาดูงานจากโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ในโอกาสที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของงานกองทุนประกันสังคม และกองทุนทดแทน ซึ่ง รพ.ลานนา ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีผู้ประกันตนไว้วางใจเลือกใช้มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ โดยผลจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบของผู้ประกันตนให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดี ตามสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับให้ครอบคลุมให้มากขึ้น ณ โรงพยาบาลลานนา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561

รพ.ลานนา อบรม CPR ทารกแรกเกิด

          นพ.ธีระยุทธ นิยมกูล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลลานนา เป็นประธานในการจัดงานอบรมเรื่อง การ CPR ทารกแรกเกิด พร้อมกับให้การต้อนรับ พญ.วรพร ติยะประเสริฐกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด และ นพ.สุรสิทธิ์ สากระแสร์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ในโอกาสที่ได้เข้ามาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของการ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนในเด็กทารกแรกเกิด โดยมีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ในกรณีพบเหตุฉุกเฉินของผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งโรงพยาบาลลานนา มีกุมารแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลลานนา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา