นอกจากตรวจพบเนื้องอกแล้ว
ค่าฮอร์โมนก็ผิดปกติ!!
ด้วยวัยเพียง 30 ปี และรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ใครจะไปนึกว่าจะเกิดความผิดปกติขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกายที่สามารถนำไปสู่อันตรายได้หลายกรณีดังที่
“คุณนิศารัตน์” เจอมาด้วยตัวเองเมื่อไม่นานมานี้
โดยเจ้าตัวได้ทบทวนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า
“...ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้รู้สึกถึงอาการผิดปกติใดๆ
มากนัก ที่รู้สึกได้ในเบื้องต้นคือเจ็บกล้ามเนื้อข้าง ๆ ท้องด้านขวา ซึ่งแรก ๆ
ไม่ได้เจ็บมาก จนวันหนึ่งได้ไปออกกำลังกายกลับมาแล้วเจ็บก็เลยนึกว่าเจ็บกล้ามเนื้อเพราะออกกำลังกาย
แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่เจ็บธรรมดาจากด้านนอก มันมาจากภายในเหมือนมีเข็มมาแทง
จะทำอะไรก็เจ็บไปหมด ในใจคิดว่าอาจเป็นไส้ติ่งจนทนไม่ไหวต้องไปที่โรงพยาบาลลานนา
เพื่อให้คุณหมอตรวจหาความผิดปกติให้ได้ซึ่งหลังจากที่คุณหมอส่งไปรับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วพบก้อนเนื้องอกอยู่ที่ต่อมหมวกไต...”
หลังจากนั้น “คุณนิศารัตน์”
ก็ได้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติมจาก “พญ.ไปรพิดา รามนัฏ...อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบต่อมไร้ท่อ” ประจำ “โรงพยาบาลลานนา”
เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกัน ซึ่งนอกจากคุณหมอจะสอบถามประวัติต่าง ๆ แล้วยังได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดไปตรวจค่าฮอร์โมนต่าง
ๆ ในร่างกายก็ได้พบว่าค่าของฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ จึงได้นัดให้มาพบแพทย์ทุก
3 เดือน 6 เดือนเพื่อติดตามตรวจเช็คว่าก้อนเนื้องอกมีขนาดโตขึ้นหรือไม่ และมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด
โดยได้สั่งยาให้ผู้ป่วยทานไปตลอดช่วงที่มาติดตามอาการ ซึ่ง “คุณหมอไปรพิดา”
ได้อธิบายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหน้าที่ของ “ต่อมหมวกไต” ด้วยดังนี้
“...ต่อมหมวกไตเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่ง
ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนหลายชนิด
ทั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิตและระดับโซเดียมในเลือด
รวมถึงฮอร์โมนเพศด้วย เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol),
ฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน (Aldosterone), ฮอร์โมนอะดรีนาลีน
(Adrenaline), ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน(Noradrenaline) เป็นต้น โดยที่การทำงานของต่อมหมวกไตจะถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมองและบางส่วนของต่อมไร้ท่อ
หากต่อมใต้สมองไม่สามารถควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมหมวกไตได้
หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นที่ต่อมหมวกไต ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไตได้...”
คำแนะนำจากคุณหมอผู้ร่วมดูแล...
ปัญหาสุขภาพอันเป็นผลจากการมี
“ก้อนเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต” ดังที่คุณหมอกล่าวมานี้จะส่งผลให้ “ค่าฮอร์โมนในร่างกาย”
เปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในทางกายภาพเป็นต้นว่า...ความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง...ทานอาหารมากขึ้น...ความดันโลหิตสูง...ปวดศีรษะ...เหงื่อออก...ใจสั่น...
แต่ในเบื้องต้นที่คุณหมอยังไม่แนะนำให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดกำจัดก้อนเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตออกในเบื้องต้นเนื่องจากตำแหน่งที่เกิดนั้นอยู่ภายในและมีขนาดเล็กเพียง
2-3 ซ.ม. ทำให้ “คุณหมอไปรพิดา” จึงควรต้องพิจารณาให้รอบด้านเพื่อมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยด้วยการติดตามเฝ้าดูอาการของก้อนเนื้อเจ้าปัญหานี้ไประยะหนึ่งก่อนพร้อมกับตรวจเช็คระดับฮอร์โมนอยู่เสมอว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่
แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องโชคดีของผู้ป่วยตรงที่ก้อนเนื้อนี้ไม่มีการเติบโตขึ้นและถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีที่อาจไม่เป็นเนื้อร้าย
แต่หากขืนปล่อยไว้นานวันเข้าก็อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในอนาคต ทำให้ “คุณหมอไปรพิดา” เห็นว่า “การผ่าตัด”
เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับกรณีนี้ ซึ่ง “คุณนิศารัตน์”
มิได้ขัดข้องและได้เข้ารับการผ่าตัดในที่สุด...
ได้ประโยชน์ทั้ง
“ศัลยแพทย์” และ “ผู้เข้ารับการผ่าตัด”
หลังจากนั้นผู้ป่วยรายนี้ก็ได้รับการส่งตัวไปเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดที่
“ศูนย์ศัลยกรรมส่องกล้อง...โรงพยาบาลลานนา” ซึ่ง “นพ.ราชันย์พัทธ์ วรเวชานนท์...ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการส่องกล้อง”
ประจำศูนย์ฯ รอรับช่วงอยู่ก่อนแล้ว โดยได้อ่านรายงานการตรวจวินิจฉัยและสรุปผลการติดตามดูแลที่
“คุณหมอไปรพิดา” ได้ส่งไปพร้อมกันก่อนที่จะสรุปความเห็นว่าสมควรรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อที่ต่อมหมวกไตนี้ออกไป
เพื่อปรับให้ฮอร์โมนในร่างกายของ “คุณนิศารัตน์” ให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติสมบูรณ์อีกครั้ง
ทั้งนี้โดย “คุณหมอราชันย์พัทธ์” ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการก้าวหน้าในวงการแพทย์ที่
“โรงพยาบาลลานนา” ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อบำบัดรักษาผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะอาการป่วย
ด้วยโรคภัยนานาชนิด โดยระบุว่า
“...กรณีที่ตำแหน่งต้นตอของปัญหาเป็นตำแหน่งที่ยากจะเข้าถึง
เช่น ต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็กอยู่ภายในช่องท้องนั้น
การผ่าตัดโดยการส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ง่าย เนื่องจากอุปกรณ์กล้องนำทางได้รับการประดิษฐ์คิดค้นให้มีขนาดเล็ก
ซึ่งจะส่งภาพภายในช่องท้องออกมาปรากฏที่จอรับภาพอย่างชัดเจน จึงช่วยให้ศัลยแพทย์เข้าถึงตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ
โดยใช้เครื่องมือผ่าตัดพิเศษในการทำการผ่าตัด นำก้อนเนื้อที่ต่อมหมวกไตออกมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่าเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่...ทั้งนี้การผ่าตัดส่องกล้องจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์อย่างมาก
โดยข้อดีของการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้คือผู้ป่วยเสียเลือดน้อย เพราะไม่ต้องเปิดแผลใหญ่
ซึ่งในเมื่อขนาดของแผลเล็กกว่าแผลผ่าตัดแบบดั้งเดิมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยลดการบาดเจ็บหลังผ่าตัด
และสามารถกลับบ้านได้ไวครับ...”
ทางด้าน
“คุณนิศารัตน์”
ซึ่งหลังจากเข้ารับการผ่าตัดกำจัดก้อนเนื้อที่ต่อมหมวกไตเป็นที่เรียบร้อยก็ได้เผยให้ทราบว่า
“...รู้สึกโล่งใจมากค่ะที่ได้ผ่าตัดรักษาต้นตอของปัญหาสุขภาพ
โดยนอนพักรักษาในโรงพยาบาลลานนา 3 วันก็กลับบ้านได้แล้ว และคุณหมอได้นัดมาตรวจติดตามอาการเพื่อเช็คค่าของฮอร์โมนที่มีความผิดปกติก่อนหน้านี้ก็พบว่าร่างกายเริ่มมีการปรับฮอร์โมนให้กลับมาเหมือนเดิม
อาการผิดปกติที่มีก็ค่อยๆ หายไปจนเป็นปกติแล้ว ที่ชอบใจอีกด้วยคือ ดิฉันไม่ต้องกังวลกับแผลเป็นที่เกิดขึ้นเพราะมีแผลเพียง
1-2 ซ.ม.แถมยังสามารถกลับไปทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันได้หลังจากนั้นเพียง 2
อาทิตย์เท่านั้นค่ะ...ต้องขอขอบคุณพยาบาล และคุณหมอทุกท่านที่ได้ดูแลดิฉันตลอดเวลาที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลลานนาค่ะ...”