โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

12 ตุลาคม 2565

“สวนหลอดเลือดสมองผ่านข้อมือ” สำเร็จ ครั้งแรกของ จ.เชียงใหม่โดย “รพ.ลานนา”



อายุยังน้อยแต่ถูกคุกคามจนเกิดอาการ

ระมาทไม่ได้โดยเด็ดขาดสำหรับ “โรคหลอดเลือดสมอง”...ตัวการสำคัญในลำดับต้น ๆ ที่จำมาทำร้ายร่างกายผู้คนจนอาจต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพหรือหนักกว่านั้นก็ “ถึงแก่ชีวิต” ได้ด้วยไม่ว่าจะเป็น...ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน...หลอดเลือดสมองตีบ...หรือ...หลอดเลือดสมองแตก โดยที่แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลักและเน้นการรักษาที่ตรงจุด...ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งยวดคือ “เวลา” สำหรับการรักษาโรคนี้หลังเกิดอาการ...เพราะยิ่งผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นโอกาสให้หายหรือฟื้นคืนสู่ความเป็นปกติได้มากขึ้นเท่านั้น!!...แต่ยังมีอีกประเด็นที่ “อุ่นใจ...ใกล้หมอ” ไม่อยากให้มองข้ามได้แก่เรื่องของ “วัย” เพราะอาจมีหลายท่านที่เข้าใจผิดคิดว่าโรคนี้จะมีแต่ “ผู้สูงวัย” เท่านั้นที่จะตกเป็นเหยื่อ...ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “คุณธนันวิชช์ วงศ์พุฒิสิริ” ซึ่งมีอายุอานามเพียง 30 ปี แต่เกือบเจอ “ปัญหาใหญ่” เข้าให้โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว และหลังจากได้รับการบำบัดรักษาพ้นภาวะน่าห่วง แล้วก็ได้เผยประสบการณ์ครั้งสำคัญโดยลำดับความให้ทราบดังนี้



“...เริ่มแรกหลังจากเกิดอาการก็คิดว่ามีความผิดปกติบางอย่าง จึงไปรับการตรวจรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพราะมีอาการปวดหัวบ่อย ๆ และหนักขึ้นจนลุกแทบไม่ไหวแล้ว โดยคุณหมอได้ให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำ CT-scan และ MRI จึงพบความผิดปกติบางอย่าง ซึ่งคุณหมอสันนิษฐานว่าอาจมีความเสี่ยงกับ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน คุณหมอจึงให้ยาสลายลิ่มเลือด ยาลดความดัน ยาแก้ปวดไปรักษาอาการ แต่พอยาหมดอาการปวดหัว เวียนหัวก็กลับมาอีก จึงกลับไปพบโดยหวังให้ได้รับการตรวจเพิ่มแต่ดูแล้วเห็นว่าที่นั่นยังขาดความพร้อม ผมจึงขอให้เขาช่วยประสานส่งต่อมารักษาที่ ศูนย์สวนหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลลานนา เพราะเชื่อว่าจะมีความพร้อมมากกว่าครับ...”


ข้อมูลป้องกันภัย “โรคหลอดเลือดสมอง”



รณีของ “คุณธนันวิชช์” ถือได้ว่าเป็น “กรณีศึกษา” ที่จะช่วยลดปัญหาภัยคุกคามจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยการรับข้อมูลข้อเท็จจริงและสามารถบอกกล่าวเล่าสู่ญาติสนิทมิตรสหายให้ตระหนักและระมัดระวังภัยที่มาแบบไม่รู้ตัวและอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันในวันใดวันหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ป่วยรายนี้ได้ให้กับคุณหมอไว้นั้นครอบคลุมถึงปัจจัยเสี่ยงหลายต่อหลายอย่างที่เจ้าตัวมิได้คาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น...พฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ทำให้มีการพักผ่อนน้อย มีการสังสรรค์บ่อยครั้ง ประกอบกับการมีความเครียดสะสมจากภารกิจการงานที่ต้องรับผิดชอบ แม้จะมีวัยเพียง 30 ปี...ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดอาการ “เวียนหัว-ปวดหัวบ่อย ๆ-อ่อนเพลียไม่มีแรง และหนักถึงขั้นจะวูบเลยทีเดียว” และตอนที่เกิดอาการในช่วงเริ่มแรกนั้นเจ้าตัวก็มิได้คิดว่าจะเป็นอะไรมากมาย...อาจเป็นเพราะปวดหัวไมเกรนทั่วไปก็ได้เพราะหลังจากกินยาแก้ปวดไปแล้วก็หาย แต่เหตุที่ชวนให้เกิดความสงสัยในเวลาต่อมาก็เพราะเกิดอาการต่อเนื่องมาเกือบ 2 เดือน จึงตัดสินใจไปพบแพทย์และได้รับการตรวจจึงทราบว่าต้นตอคือ “ภาวะเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว” หรือ “การที่เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ” นั่นเอง ซึ่งข้อมูลที่ “นพ.ณัฐวรรธ วิฑูรย์...ศัลยแพทย์ระบบประสาท และแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท ประจำ “โรงพยาบาลลานนา” ได้อธิบายไว้มีดังนี้



“...หลังจากผู้ป่วยได้รับการส่งต่อมารับการรักษาอาการที่เกิดขึ้นคือเวียนหัว ปวดศีรษะบ่อย ๆ เวียนหัวก็ได้ตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดง รวมทั้งได้อาศัยเทคโนโลยีการสร้างภาพหลอดเลือดแดงด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เรียกย่อ ๆ ว่า MRA จึงช่วยให้พบรอยโรคและความผิดปกติบริเวณหลอดเลือดสมอง ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับยาละลายลิ่มเลือดมาทานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาถึงการตรวจรักษาเพิ่มเติมด้วยเทคนิค ใส่สายสวนหลอดเลือดสมองซึ่งคล้ายกับการสวนหัวใจ เพื่อดูว่าหลอดเลือดมีความผิดปกติในแบบใด หากพบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันก็จะทำการดึงลิ่มเลือดออกมา หรือให้การรักษาเพิ่มเติมเป็นราย ๆ ไป ซึ่งขึ้นอยู่กับรอยโรคในสมองของผู้ป่วยแต่ละรายครับ

สวนหลอดเลือดสมองผ่านข้อมือครั้งแรกของ จ.เชียงใหม่



อแทรกเสริมข้อมูลเกี่ยวกับกรณี “การสวนหลอดเลือดสมอง” เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เจอลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง ดังที่มีการใช้มาก่อนนั้น ตามปกติทั่วไปแล้วจะทำโดยการเจาะเส้นเลือดที่บริเวณขาหนีบของผู้ป่วย เพื่อเป็นช่องทางสอดสายลวดเข้าไปตามหลอดเลือดใหญ่ไปสู่หลอดเลือดสมองที่มีความผิดปกติ และทำการรักษาไม่ว่าจะเป็นการลากลิ่มเลือด หรือการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดไม่ให้ตีบตันก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการรักษาที่ไม่น่ากลัว เพียงแต่ภายหลังการรักษาจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณขาหนีบจึงต้องให้ผู้ป่วยงดใช้บริเวณนั้นชั่วคราว บังเอิญว่าเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดสงวนจึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวลหรือประหม่าได้เหมือนกัน...ด้วยเหตุนี้ “ศูนย์สวนหลอดเลือดสมองโรงพยาบาลลานนา” โดย “นพ.ณัฐวรรธ วิฑูรย์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท และแพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท”  จึงได้พัฒนาวิธีการรักษาโดย “การสวนหลอดเลือดแบบใหม่ผ่านทางข้อมือ”  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Trans radial Approach Cerebral Angiography’ ซึ่ง “คุณหมอณัฐวรรธ” ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“...เป็นเทคนิคการรักษาแบบเดียวกับการเจาะเข้าทางขาหนีบ หากแต่เจาะผ่านข้อมือเข้าสู่หลอดเลือดสมองที่มีปัญหา แม้จะเป็นเส้นทางหลอดเลือดที่เข้าถึงยากกว่าทางขาหนีบ แต่ผลการรักษาเป็นที่พึงพอใจมากกว่าการรักษาแบบเดิม โดยระหว่างการรักษา 1 ชั่วโมงกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลา และหลังการรักษาแล้วเสร็จก็จะใช้เพียงไม้ค้ำยันบริเวณข้อมือไว้ก่อนขณะที่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน ก็ออกไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว... และกรณีของผู้ป่วยรายนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ที่สามารถรักษาด้วยเทคนิคผ่านทางข้อมือนี้ได้ครับ...”


ต้องถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับ “รพ.ลานนา” ซึ่งได้จัดเตรียมศักยภาพด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อการรักษา จนสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จในการ “สวนหลอดเลือดสมองผ่านข้อมือ” เป็นครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี “คุณหมอณัฐวรรธ” รับบทสำคัญในการพัฒนาเทคนิคการรักษาในลักษณะนี้ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า...ปัจจุบันนี้จะมีเฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะนอกจากจะต้องอาศัยแพทย์ผู้มีทักษะและเชี่ยวชาญในการทำหัตถการสวนหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะแล้ว ยังต้องครอบคลุมถึงความพร้อมของอุปกรณ์ ตลอดทั้งแพทย์ผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของรังสีแพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา ซึ่งต้องมีความรู้เรื่องของหลอดเลือดและการเอกซเรย์พิเศษต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานประสานกันเป็นทีมของบุคลากรด้านอื่นๆ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระหว่างการทำหัตถการให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยระหว่างการทำการรักษาควบคู่ไปด้วย



อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะได้ประโยชน์มหาศาลจากความก้าวหน้าและนวัตกรรมทางการแพทย์ยุคปัจจุบันมาช่วยให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างแม่นยำ ตรงจุด สามารถรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นดังที่ “ศูนย์สวนหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลลานนา” ได้พัฒนาทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคหลอดเลือดทางสมองมาเพิ่มโอกาสการรักษาให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นด้วย การสวนหลอดเลือดสมองผ่านทางข้อมือ ดังที่ “หมอจอแก้ว” นำมาสาธยายนี้แล้ว ก็ต้องขอเน้นย้ำไว้ด้วยว่า...อย่าประมาท “โรคหลอดเลือดสมอง” เด็ดขาด เพราะอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้-ทุกเพศวัย...โดยมีต้นตอจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละท่านนั่นเอง..!!