โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

2 พฤศจิกายน 2564

ล้มเข่าบิดผิดท่าจากเล่นกีฬา-เจ็บซ้ำอีกรอบเพราะ “รถล้ม” รพ.ลานนา จ.เชียงใหม่ รักษาด้วยเทคนิคผ่าตัดจัดแนวกระดูกเข่าให้ตรง

 


อุบัติเหตุ 2 แบบทำผู้ป่วยปวดเข่ารุนแรง

ด้วยความที่ชื่นชอบในการเล่นกีฬามาแต่ไหนแต่ไรทำให้ “คุณสิริทัศน์ อภิรักษ์สุวรรณ” ให้เวลากับการไปเตะฟุตบอลสลับตะกร้อกับพรรคพวกเพื่อนฝูงตลอดมา ตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือจนกระทั่งมีอายุราวๆ 30 ปีจึงเจออุบัติเหตุล้มระหว่างกำลังเล่นฟุตบอล ซึ่งเจ้าตัวได้เผยถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า เข่าบิดเข้าด้านในมากจนเกิดความเจ็บปวดค่อนข้างแรง และหลังจากนั้นก็เริ่มมีอาการเข่าบวม-เจ็บเข่า ทำให้ต้องพักการเล่นไว้ก่อน และไปหาซื้อยามากินเพื่อทุเลาความปวด แบบว่าดูแลตัวเองโดยไม่ได้รักษาอะไรมากไปกว่านั้น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่อาจใช้งานได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ไปออกกำลังเล่นกีฬาตามปกติ โดยที่ยังมีอาการเจ็บปวดแบบเป็นๆ หายๆ เรื่อยมาอีก 10 กว่าปี และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว “คุณสิริทัศน์” เจอเคราะห์ร้ายอีกรอบจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้ม แถมยังทับหัวเข่าด้านขวาที่มีปัญหาอีก ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า

“...อาการของผมกำเริบขึ้นมาจนเดินได้ไม่สะดวกจึงต้องเพิ่มความระวังเวลาจะเคลื่อนไหวร่างกายจะกลับไปเล่นกีฬาเหมือนเดิมก็ไม่ได้ เพราะหากเคลื่อนไหวผิดท่าหรือบิดเข่าไม่ถูกต้องก็จะเกิดอาการเจ็บเข่ามารุมเร้าทุกครั้ง และที่หนักสุดคือปวดเข่าตลอดเวลาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน โดยเฉพาะเวลาลงน้ำหนักตัวจะรู้สึกเจ็บเข่าด้านที่มีปัญหาอยู่ตลอด จึงตัดสินใจไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลลานนา ให้ช่วยตรวจหาสาเหตุและรักษาให้หายจากความทรมานนี้ให้เร็วที่สุดครับ...”



ใช้เทคนิคผ่าตัดจัดกระดูกให้ตรงแทน “เปลี่ยนไปใช้ข้อเทียม”

จุดหมายปลายทางที่คุณสิริทัศน์” ตั้งเข็มไว้คือ “ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา” ซึ่งมีคุณหมอประจำการท่านหนึ่งคือ นพ.ศศินทร์ ศรีสกุล แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญพิเศษด้านเวชศาสตร์การกีฬา” เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโดยส่งผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์จึงช่วยให้ทราบสาเหตุของอาการปวดดังกล่าวเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อสึกกร่อนจากการเสียดสีสัมผัสกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีความผิดปกติในการกระจายแรงของข้อเข่าซึ่งแต่เดิมการกระจายน้ำหนักตัวจะลงไปยังกระดูกผิวข้อด้านใน และด้านนอกพอๆ กัน แต่ในผู้ป่วยรายนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ร่วมกับการใช้เข่าสมบุกสมบันมากเกินไป โดยข้อเข่าได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ประกอบกับได้รับอุบัติเหตุรถล้มทับเข่าอีก จึงเป็นตัวเร่งการเสื่อมสภาพของผิวข้อเข่าให้มากยิ่งขึ้น และเริ่มมีลักษณะผิดรูปร่างมากขึ้นจนเป็นผลให้แนวกระดูกเข่าไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการกระจายน้ำหนักที่ผิดปกติ ข้อเข่ารับน้ำหนักได้ไม่เท่ากัน จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่า และรู้สึกเหมือนข้อเข่าไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่ต้นตอของสาเหตุเป็นอับดับแรกก่อน

ทั้งนี้แนวทางการรักษาในรายของ “คุณสิริทัศน์” คือ “การผ่าตัดจัดกระดูกหัวเข่าให้ตรง” โดยเริ่มจากการส่องกล้องข้อเข่าด้วย Arthroscopic surgery เพื่อเข้าไปจัดการรักษาเย็บซ่อมเอ็นเข่าที่ฉีกขาด หรือแก้ไขหมอนรองกระดูกข้อเข่าที่มีปัญหา และผิวข้อกระดูกอ่อนที่เป็นแผลให้ทีเดียวกันเลย จากนั้นจึงจะเริ่มทำการผ่าตัดจัดแนวกระดูกเข่า ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าHigh Tibial Osteotomy หรือเรียกย่อ ๆ ว่า HTO โดย“คุณหมอศศินทร์” อธิบายว่า

“...หลักการของเทคนิคนี้คือการปรับแนวการรับน้ำหนักของข้อเข่าจากซีกเข่าที่มีความเสื่อม ให้น้ำหนักไปลงซีกเข่าที่ปกติแทน ความเสื่อมของผิวข้อยังอยู่ตำแหน่งเดิม แต่น้ำหนักร่างกายจะไม่ลงมากดทับในตำแหน่งที่เสื่อมอีก ช่วยลดอาการปวดได้ดี อีกทั้งกระดูกผิวข้อที่รักษา สามารถมีการซ่อมแซมตัวเองได้ เพราะเป็นผิวข้อตามธรรมชาติ ผิวข้อที่เกิดการสึกกร่อนด้านใน มีโอกาสฟื้นสภาพได้เนื่องจากแรงกดเสียดสีที่เกิดขึ้นได้ถูกย้ายไปยังด้านที่ยังไม่ได้มีการใช้งาน หรือด้านที่ยังมีผิวข้อสมบูรณ์อยู่ซึ่งการที่จะเปลี่ยนมุมแนวของข้อเข่าได้ ต้องมีการตัดกระดูกออกบางส่วน ส่วนใหญ่มักเป็นกระดูกหน้าแข้ง และมีการปรับมุมของกระดูก จากนั้นต้องมีการใส่เหล็กดามยึดกระดูกที่ถูกตัดนั้นเพื่อให้เข่ามีความสมดุลในเรื่องของการรับน้ำหนักตัวที่เท่ากัน ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ปวดเข่า ลดความเสื่อมก่อนวัยอันควร รวมทั้งช่วยให้แนวขาตรงขึ้น เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริงครับ...”

 

อันที่จริงแล้ว การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนไปใช้ข้อเทียม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเกิด ภาวะแทรกซ้อน” ซึ่งอาจมีได้บ้างแต่ก็ไม่รุนแรง อีกทั้งยัง สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหลังจากที่แผลหายสมบูรณ์... และหากมองในแง่ “ค่าใช้จ่าย”ก็อาจกล่าวได้เลยว่า...น้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม...แม้ว่าจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาด้วยเทคนิคแบบนี้ก็ตาม


    หากเกิดภาวะอาการแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว!!

อกจากนี้ คุณหมอศศินทร์”ในฐานะ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญพิเศษด้านเวชศาสตร์การกีฬา” ประจำ“ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา”ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดอีกด้วยว่า

“...หลังจากที่ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้แล้ว หมอจะฝึกให้ผู้ป่วยยืนทรงตัว และการเดินลงน้ำหนักบางส่วน ประมาณ 50% โดยการใช้อุปกรณ์พยุงหรือช่วยการเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน หรือ walker เป็นต้น และผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินด้วยวิธีที่ว่าประมาณ 8-12 สัปดาห์ เพื่อรอให้กระดูกที่จัดแนวให้ตรงนั้นสมานกันดีเสียก่อนจึงจะลงน้ำหนักได้ 100% ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียเวลาหลังจากผ่าตัดด้วยวิธีนี้แต่ก็มิได้มีอะไรที่รุนแรงและผู้ป่วยเป็นฝ่ายที่ต้องทําความเข้าใจก่อนเลือกรักษา...อย่างไรก็ตามการผ่าตัดวิธีนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทุกรายนะครับ แต่แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมในการเลือกผู้ป่วย เพื่อให้เกิดผลดีต่อการผ่าตัดให้มากที่สุดครับ...”

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ “คุณสิริทัศน์” ที่เป็นผู้ป่วยซึ่งเพิ่งจะได้รับประสบการณ์โดยตรงจากการผ่าตัดจัดแนวกระดูกหัวเข่าให้กลับมาตรงตามแนวปกติและยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นได้กล่าวว่า

“... รู้สึกดีขึ้นมาก จากเดิมที่มีอาการปวดเข่ารุมเร้าชีวิตอยู่ตลอดเวลาได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง รอแค่ให้ร่างกายได้ปรับตัว พักฟื้น ให้ข้อเข่าแข็งแรงสมบูรณ์ดี ก็น่าจะกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติแล้ว ต้องขอขอบคุณคุณหมอศศินทร์ และทีมแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลลานนาทุกท่านที่ช่วยดูแลผมตลอดการรักษาที่นี่ครับ...”

 

“หมอจอแก้ว” แถมให้อีกนิดหนึ่งว่าเทคนิคผ่าตัดจัดแนวกระดูกข้อเข่าให้ตรง”ดังที่ “รพ.ลานนา” ได้นำมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยลักษณะอาการแบบเดียวกับ “คุณสิริทัศน์” ในการรักษาข้อเสื่อมในระยะเริ่มต้นซึ่ง...ข้อเข่ายังโก่งไม่มาก...รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล...โดยมีเงื่อนไขว่า...ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอายุไม่มากกว่า 60 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้บ้าง...ซึ่งจำเป็นที่ต้องให้คุณหมอพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดจึงเหมาะกับการเลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบนี้...เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือ เมื่อเกิดอาการขึ้นมาแล้วอย่าปล่อยทิ้งไว้ ขอรีบไปปรึกษาคุณหมอไว้ก่อนจะได้ผลการรักษาที่น่าพอใจกว่าครับ