โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

19 กันยายน 2561

#อุ่นใจ...ใกล้หมอ #เดลินิวส์ หนุ่มวัย 37 ข้อกระดูกสะโพกตายแม้ยังไม่แก่ รพ.ลานนา ใช้เทคโนฯ ผ่าตัดแนวใหม่ ฟื้นตัวไว





อาการบ่งชี้-พฤติกรรมนำไปสู่คำตอบ...

มื่อคนเราได้โลดแล่นใช้ชีวิตผ่านฤดูกาลต่าง ๆ เรื่อยมาจนเข้าสู่ความเป็น “สอ-วอ” ที่แปลว่า “ผู้สูงวัย” แล้วละก็สิ่งที่ตามด้วยอย่างช่วยไม่ได้คือ “ความเสื่อม” ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยสามารถสัมผัสได้ด้วยสายตาตั้งแต่หัวจรดเท้า ไล่จากบนลงล่างก็จะมีตั้งแต่ผมซึ่งจากที่เคยดกดำก็เริ่มมีสีดอกเลาแซมขึ้นมา ขณะที่ใบหน้าอิ่มเอิบมาตลอดก็ชักปรากฏร่องรอยของการเหี่ยวย่นเช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ทั่วตัว...ซึ่งล้วนเป็น “รูปลักษณ์ภายนอก” ที่ไม่มีใครอาจหลีกลี้หนีได้พ้น แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาที่ต้องทุกข์ทรมานหรือเจ็บปวดรวดร้าวแต่อย่างใด จึงต่างกับกรณีของโรคภัยที่แฝงเข้ามาพร้อมกับวัยและออกฤทธิ์อาละวาดด้วยการกัดกร่อนอวัยวะภายในจนเกิดความเสียหายมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของ “สอ-วอ” ที่ไม่อาจหนีพ้นภาวะความเจ็บป่วยและต้องเผชิญปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกิน การอยู่ หรือการเคลื่อนไหวใช้งานอวัยวะที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่มาเบียดเบียนได้สำเร็จก็ย่อมต้องแบกรับความเจ็บปวดรวดร้าวไปพร้อมกับความทุกข์ที่จะเพิ่มมากเป็นลำดับ...
แต่ข้อมูลความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ผู้สื่อข่าวพิเศษได้นำมาเสนอในฉบับนี้มิได้เกิดกับผู้ป่วยที่ได้ชื่อว่าอยู่ในกลุ่ม “สอ-วอ” อีกทั้งยังมิใช่เป็นความเจ็บป่วยอันเป็นผลจาก “ความเสื่อม” ที่มาพร้อมกับวัยแต่อย่างใด และผู้ที่ได้เผชิญกับภาวะอาการที่สร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสรายนี้กลับเป็น “ชายหนุ่มวัย 37 ปี” มีนามว่า ชัยวัฒน์  ตายศ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของโรค “ข้อกระดูกสะโพกตาย” ชนิดที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวและเมื่อถูกถามว่ารู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าป่วยเป็นโรคนี้ “หนุ่มชัยวัฒน์” ก็ตอบทันทีว่าเกิดอาการขึ้นยังไม่ทันถึงปีโดยเริ่มรู้สึกได้จาก...ปวดขาหนีบ...ปวดสะโพกบ้าง...รวมทั้งปวดร้าวลงขา แต่คิดว่าเกิดจากการทำงาน โดยเฉพาะ ตอนที่ยืน เดินนาน ๆ จะรู้สึกว่าเดินต่อไปไม่ไหว จนต้องหยุดพักเพื่อให้อาการทุเลาลง และมันก็เป็นบ่อยขึ้นต่อมาอีกหลายเดือน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าได้พยายามหาทางรักษาโดยวิธีทั่วไป เช่น การไปนวดจับเส้น การทานยารักษา การฝังเข็ม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ทุเลาลง แถมยังหนักข้อขึ้นทุกที จนต้องตัดสินใจไปพบหมอกระดูกที่รพ.ลานนา เพราะอยากทราบสาเหตุที่ทำให้ต้องเจอความทุกข์ทรมานอย่างนี้ผู้ที่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผู้ป่วยหนุ่มรายนี้คือ นพ.ภาสกร อุปโยคิน แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา โดยระบุว่าโรคที่เขาเผชิญอยู่มีชื่อเรียกว่า “โรคข้อกระดูกสะโพกตาย” ซึ่ง “คุณหมอภาสกร” วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคนี้หลังจากได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกายโดยอาศัย เทคโนโลยีสแกนร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI  แล้วพบว่าข้อสะโพกของผู้ป่วยขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้หัวข้อสะโพกเสื่อมหนักมาก ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในคนอายุน้อยๆ ซึ่งหากละเลยไม่รักษา คุณภาพชีวิตอาจจะแย่ลงได้ในที่สุด

ทั้งนี้ “คุณหมอภาสกร” ได้ย้ำชัดถึงกรณีนี้ว่า...แม้ผู้ป่วยจะยังไม่แก่ ข้อสะโพกก็เสื่อมได้เช่นกัน...เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงเวลานี้แล้วก็ต้องเดินหน้าไปสู่การบำบัดรักษา ส่วนจะด้วยวิธีไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุดนั้น  เห็นจะต้องขอเชิญไปติดตามจากคุณหมอผู้เป็นเจ้าของไข้ต่อไปได้เลยครับ


“ข้อดี” ของเทคโนโลยีผ่าตัดแนวใหม่ ... ในศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา


“คุณหมอภาสกร อธิบายว่ากรณีอย่างนี้ วิธีที่จะรักษาอันเหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นต้องให้เขาเข้ารับ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” ซึ่งทุกวันนี้มีการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทางการแพทย์มาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากขึ้นในหลายกรณีที่แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้ป่วยอาจต้องถึงกับ “สะดุ้งโหยง” เมื่อได้ทราบจากคุณหมอว่า “ต้องผ่าตัด” ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่ามันเป็น “เรื่องใหญ่” เพราะข้อมูลที่ใคร ๆ ได้ยินกันเรื่อยมาจากหลายปีก่อนคือผู้ป่วยต้องให้แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่บริเวณด้านหลัง หรือด้านข้างลำตัว ก่อนที่จะมีการตัดกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกออกเพื่อตัดแต่งเอากระดูกข้อสะโพกของผู้ป่วยที่เสื่อมสภาพออกไป แล้วจึงใส่ข้อสะโพกเทียมอันใหม่เข้ามาแทน ซึ่งหลังจากที่ผ่านการผ่าตัดแบบเดิมที่ว่านี้แล้วผู้ป่วยต้องนอนพักตัวรักษาในโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์เพื่อให้คุณหมอแน่ใจว่าไม่เกิดความเสี่ยงกับแผลผ่าตัดขนาด 6-8 นิ้วที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย  นอกจากนั้นยังต้องอาศัยเวลาอีกหลายวันกว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเดินก้าวแรก ทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานพอสมควรกว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกครั้ง

แต่ด้วยเหตุที่ได้มีวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ได้ส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยด้วย “โรคข้อสะโพกเสื่อม” แตกต่างไปจากเดิมอันเป็นผลให้คุณหมอและผู้ป่วยมีทางเลือกในการบำบัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่เปลี่ยนไป จึงช่วยให้ “คุณหมอภาสกร”  มีทางเลือกมาใช้เทคนิค การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ด้วยการ “ผ่าทางด้านหน้า แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ”  ซึ่งเป็นเทคนิคที่แพทย์จะผ่าตัดในตำแหน่งทางด้านหน้าบริเวณต้นขา โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วจึงเริ่มทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมให้ผู้ป่วย ทั้งนี้ระหว่างการผ่าตัดจะใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์ร่างกาย C-arm เพื่อเช็คตำแหน่งของข้อเทียมและขาให้ถูกต้องเพื่อช่วยลดปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดแต่ละข้างประมาณ 1-2 ชั่วโมง...จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่” ที่ศูนย์โรคปวดเข่า โรงพยาบาลลานนา มี “ข้อดี” ที่แตกต่างอย่างแรกคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดน้อยลงเนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบใหม่ทางด้านหน้า โดยไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อออก จึงทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวขึ้น ความเจ็บปวดน้อย ขณะที่แผลจะมีขนาด 3-4 นิ้วโดยประมาณ  หลังผ่าตัด วันผู้ป่วยก็สามารถเริ่มฝึกเดินได้ ซึ่งเท่ากับว่าระยะเวลาที่ต้องพักในโรงพยาบาลให้ลดลง เหลือเพียง 3-4 วัน ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไป...เพราะฉะนั้นก็ต้องเปิดโอกาสให้ “หนุ่มชัยวัฒน์” เป็นผู้ให้ข้อมูลปิดท้ายซึ่งเจ้าตัวได้กล่าวแบบชื่นชมว่า ...
  
         “…เพียงวันแรกหลังการผ่าตัด อาการปวดทรมานของผมเริ่มหายไปอย่างชัดเจน จากนั้นนักกายภาพบำบัดได้มารับตัวผมไปบำบัดร่างกายหลังการรักษา...ที่ไม่น่าเชื่อคือ...แค่วันเดียวผมก็สามารถลงเดินได้แล้ว เพียงแต่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเท่านั้น...จากนี้ไปก็เหลือเพียงรอให้แผลผ่าตัดหายดี และพยายามฝึกบริหารร่างกาย เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวต่อไป...    ตอนนี้รู้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ซึ่งผมคงต้องหลีกเลี่ยงและพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อไม่ให้มันกลับมาทำร้ายตัวเองอีกครั้ง...แต่อดไม่ได้ที่ต้องขอขอบคุณ “คุณหมอภาสกร” ตลอดทั้งเจ้าหน้าที่ พยาบาลทุก ๆ ท่านของ รพ.ลานนา ที่ช่วยดูแลผมตลอดการรักษาครับ”…เอวังก็มีด้วยประการ.ร.ร.ระ ฉะนี้...สวัสดีครับ