โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโดยการส่องกล้อง www.lanna-hospital.com

13 กันยายน 2561

"ผู้สูงอายุ" อย่าทน.. "ปวดทรมาน!!!" ถ้า.. "ข้อเข่าเสื่อม" รพ.ลานนา เชียงใหม่ รักษาทั้งใช้ยา-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

          ผู้สูงวัยอย่าทนปวดทรมานถ้า...ข้อเข่าเสื่อม...

          รพ.ลานนารักษาทั้งใช้ยา-ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า  

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกรักษาแบบประคับประคอง

          วัยวะที่แบกรับน้ำหนักตัวให้เรามาตั้งแต่มีวัยแค่หัดยืนไปจนถึงเดินและวิ่งได้อย่างคล่องตัวคือ “เข่า” แต่จะมีผู้คนไม่มากนักที่ห่วงใยให้ความสำคัญกับการใช้เข่าอย่างทะนุถนอม ซึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อยังอยู่ในช่วงชีวิตที่อายุอานามยังไม่ถึงขั้นที่จะถูกใครเรียกว่า “คุณลุง” หรือ “คุณป้า” ก็จะยังคงใช้เข่าได้สะดวกใจไร้ปัญหาเว้นเฉพาะแต่บางคนที่อาจเคยเจออุบัติเหตุทำให้เข่าต้องถูกกระทบกระแทกได้รับบาดเจ็บกับอีกพวกที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ขาดความระมัดระวัง เรื่องน้ำหนักตัวโดยปล่อยให้เพิ่มขึ้นจนเกินความพอดีก็อาจออกอาการปวดเป็นการเตือนให้เจ้าตัวได้รับรู้ขึ้นมาแม้จะมีวัยอยู่ในระดับ “คุณน้า” หรือ “คุณอา” ก็ตาม... แต่เมื่อใดที่สูงวัยขึ้นไปอีกระดับหนึ่งละก็โอกาสที่จะได้เจอกับอาการ “ปวดหัวเข่า” จะยิ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหาเรื่อง “ความเสื่อม” ของกระดูก และข้อซึ่งรวมทั้ง “ข้อเข่า” เพิ่มเข้ามาอีก... ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้เจอประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญอันเป็นความทุกข์ระทมจากปัญหา “โรคข้อเข่าเสื่อม” ที่พบได้บ่อยที่สุดถึงขนาดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้สูงอายุอีกด้วย ผลกระทบที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่ตัวผู้ป่วยเท่านั้นหากแต่ยังรวมถึงครอบครัวที่ต้องคอยห่วงใยดูแลช่วยเหลือในระหว่างใช้ชีวิต และทำกิจวัตรประจำวันนั่นเอง 
  
          จากสถิติเมื่อปี พ.ศ.2553 พบว่ามีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมราว 6 ล้านคน แถมยังมีข้อมูลอีกด้วยว่าอุบัติการณ์ของการเป็นโรคนี้เกิดขึ้นแม้ผู้ป่วยจะมีวัย 45 ปีซึ่งยังไม่สูงเท่า “คุณลุง” หรือ “คุณป้า” ด้วยซ้ำ... อาจมีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่... มันก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวสูงมากเกินควรเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มนักกีฬาประเภทที่ต้องเจอแรงมากระทำต่อข้อเข่ามากกว่าคนทั่วไปรวมทั้งประเภทที่ส่อเค้าว่าจะนำมามาซึ่งอุบัติเหตุกับหัวเข่าจนเกิดการแตกหักหรือบาดเจ็บถึงขั้นเอ็นฉีกขาดอันจะก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียความมั่นคงในข้อเข่าตามมา... ส่วนอีกกลุ่มที่มีปัญหาโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ข้อเกิดการอักเสบบ่อยๆ อาทิ โรครูมาตอยด์ มาเป็นแรงหนุนก็มีสิทธิ์เจอปัญหาจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน 

          แรกทีเดียวผู้เจอปัญหาข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการที่เริ่มจากปวดเข่า ซึ่งนานวันเข้าก็จะยิ่งปวดบ่อยขึ้น โดยมากจะเกิดตอนที่นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบหรือนั่งยอง... หรือหากขึ้น-ลงบันไดแล้วเกิดความปวดมากละก็.... ใช่เลย !! ยิ่งถ้าสังเกตเห็นว่าเข่าบวมเอามืออังดูแล้วรู้สึกอุ่นๆ ก็แปลว่าน่าจะเกิดการอักเสบขึ้นมาแล้ว... แต่กว่าจะถึงคราวที่มันจะปวดถึงขั้นรุนแรงผู้ป่วยก็มักเลือกที่จะดูแลตัวเองไปก่อนโดยหายามาทานวดหรือรับประทานให้ทุเลาความปวด บวม และพักการใช้เข่าไว้ก่อนต่อเมื่อผ่านไปหลายวันแล้วไม่ดีขึ้นจึงจะเริ่มคิดไปปรึกษาหาหมอ โดยมีผู้ป่วยบางรายกัดฟันใช้ชีวิตอยู่กับความปวดนานถึง 3-4 ปีก็มี ดังเช่น คุณอนันต์ สิริสิทธิ์ วัย 56 ปีที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งหลังจากหมดความอดทนแล้วได้มุ่งหน้าไปที่ “ศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา” เพื่อให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมานเสียที...

          ‘ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า’…ทางออกเพื่อคุณภาพชีวิต

          ก่อนตัดสินใจ “ตัดเชือก” กับอาการปวดข้อเข่า “คุณอนันต์” เล่าว่า “...ผมเริ่มรู้สึกเจ็บปวดทรมานจากอาการปวดเข่ามาประมาณ 3-4 ปี ซึ่งได้หาทางรักษามาโดยตลอดไม่ว่าจะด้วยการทานยา ฉีดยา ทำกายภาพบำบัดแต่ก็ได้แค่บรรเทาอาการพอหมดฤทธิ์ยาอาการปวดก็เกิดขึ้นอีกจนสุดท้ายอาการกำเริบหนักไม่สามารถเดินได้นานเพราะเจ็บไปไหนไกลก็ไม่ได้ทำงานก็ไม่ดีเหมือนเดิมสุดท้ายก็ต้องพึ่งพาคุณหมอให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างซ้ายเพราะอายุของผมแค่ 56 ปียังทำงานได้อีกนานจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ข้อเข่าเทียมดีกว่าถ้าไม่อย่างนั้นก็คงทำงานไม่ได้เหมือนเดิม... ความทรมานจากอาการปวดเข่าทำให้ความสุขในชีวิตเราลดลงจะทำอะไรแต่ละอย่างก็ลำบากไปหมดตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพราะกลับมาเดินได้ดีอีกครั้งโดยไม่ต้องจมกับความเจ็บปวด ความสุขในชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแล้วครับ... หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าด้านซ้ายเป็นที่เรียบร้อยได้ 1 วันผมก็สามารถลุกเดินไปเข้าห้องน้ำได้เอง โดยคุณหมอได้ให้ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องราว 1 เดือนหลังผ่าตัดซึ่งช่วยให้ผมกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาการปวดที่เคยมีก็ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ  ถึงวันนี้ก็ผ่านมาประมาณ 3 ปีแล้ว ชีวิตผมดีขึ้นกว่าเดิมเยอะนอนหลับสบายไม่ต้องทนปวดตอนกลางคืนเหมือนที่เคยเป็น ทำงานใช้ชีวิตเป็นปกติเรื่อยมา… และเมื่อเข่าข้างขวามีสัญญาณเตือนโดยปวดมากขึ้นผมก็ไม่รีรอที่จะมาหาหมอเพราะรู้ดีแล้วว่าการเปลี่ยนข้อเข่าทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นจริงๆ จึงตัดสินใจมาปรึกษาเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้างขวากับ “คุณหมอภาสกร” ที่ รพ.ลานนา อีกครั้งโดยไม่รู้สึกกังวล เพราะเชื่อฝีมือที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าผมมาแล้ว... ซึ่งผลการผ่าตัดก็เป็นไปได้ด้วยดี และเช่นเคยคือไม่ถึง 24 ชั่วโมงผมก็สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้แล้วครับ”

          หมอจอแก้ว แทบไม่ต้องใช้เวลาเรียบเรียงถ้อยคำจากคำบอกเล่าของ คุณอนันต์ เพราะเห็นว่ามีความกระชับและมีใจความตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายดีอยู่แล้ว... แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ข้อมูลอย่างรอบด้านจึงได้ขอแรง “คุณหมอภาสกร” หรือ นพ.ภาสกร อุปโยคิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ประจำศูนย์โรคปวดเข่า รพ.ลานนา มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยรายนี้อีกทางหนึ่ง 

          “...เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมทั้งสองข้าง โดยก่อนหน้านี้ก็ได้รับยามาทาน การฉีดยาบรรเทาปวด แต่ผลการรักษาก็ไม่ดีขึ้น จึงแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทีละข้าง โดยเริ่มจากข้างซ้ายเมื่อ 3 ปีก่อน และมาเปลี่ยนข้อเข่าด้านขวาในครั้งนี้ ซึ่งก่อนการผ่าตัดก็ได้ตรวจร่างกายของผู้ป่วยทั้งเรื่องของหัวใจ ปอด ความดันโลหิต เบาหวาน และค่าไตว่าปกติดีหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อม และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจึงได้ทำการผ่าตัดด้วยการเปิดหัวเข่า และตัดเอาส่วนกระดูกที่เสียออกไปก่อนใส่ข้อเข่าเทียมที่ได้ทำไว้ให้ผู้ป่วยแต่ละรายโดยผ่านการผลิตจากวัสดุทางการแพทย์ที่มีความทนทาน และไม่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะจัดเรียงแนวของข้อเข่าเทียมให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดจากนั้นจึงได้ตรวจเช็คความเรียบร้อยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าว่าดีแล้ว จึงจะเย็บปิดแผล…”

          ใช้หัวเข่าได้ตามปกติหลังการผ่าตัด

          คุณหมออธิบายเสริมด้วยว่าโดยทั่วไปแล้วข้อเข่าเทียมที่นำมาเปลี่ยนจะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือนหลังผ่าตัด ซึ่งจะแข็งแรงเสมือนเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเอง และเขาสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติไม่ว่าจะเป็นการนั่ง  การเดิน การขึ้นลงบันได รวมทั้งการออกกำลังกายบางอย่าง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการออกกำลังกายที่หนักๆ เช่น วิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนข้อเข่ามาใหม่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม โดยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ หมั่นทำกายบริหาร ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ก็จะเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานข้อเข่าเทียมได้อีกด้วย

          ได้ทราบถึงทางออกของผู้ที่เจอความทุกข์ทรมานจากอาการ “โรคข้อเข่าเสื่อม”  รวมทั้งยังมีข้อมูลจาก คุณหมอภาสกร มาให้ความกระจ่างอย่างนี้แล้วก็เชื่อเหลือเกินว่า “คุณลุง” กับ “คุณป้า” ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือใกล้เคียงคงตัดสินใจได้ว่าถึงเวลาหรือยังสำหรับการ “ตัดเชือก” เพื่อให้หลุดพ้นปัญหาอาการปวดจากโรคนี้ และได้มีชีวิตที่แฮปปี้ไม่ต่างกับ คุณอนันต์ ไงครับ